ชีวิตพระลูกวัดร่ำเปิง http://maka.siam2web.com
   Main webboard   »   หน้าปฏิบัติ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่  (Read: 6585 times - Reply: 0 comments)   
จักรกริช (Admin)

Posts: 119 topics
Joined: 10/3/2552

พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่
« Thread Started on 27/2/2553 22:19:00 IP : 118.172.9.132 »
 

พุทธศาสนาเป็นวิทยศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นวิธีการค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติวิธีหนึ่งที่ได้ผลถูกต้องแน่นอนที่สุดวิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่ได้จากการสังเกตุปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หัวใจของวิทยาศาสตร์ก็คือ
1.
ศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆก่อนแล้วแตกแขนงยากขึ้นไปเรื่อยๆอย่างมีระเบียบ
2.
ศึกษาเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่สอนเรื่องอื่น
3.
สอนโดยใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุด ไม่สอนให้คิดเพ้อฝันหรือคิดเดาเอา
4.
สอนให้เชื่อจากการที่ได้พิสูจน์หรือทดลองจนบังเกิดผลจริงอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น

***************************************************

นิเทศ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ผู้ส่งสาร สาร -  สื่อ - ผู้รับสาร การที่จะทำให้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยกระบวน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทุกขั้นตอนเพื่อส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อ สารได้ ดังนั้นนิเทศศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่สร้างให้เกิดความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้รับสารกับผู้ส่งสารได้ การสื่อสารออกมาในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ผู้ที่รับสารได้เกิดความเข้าใจตรงกัน หรือเป็นไปในทางที่ผู้ส่งสารต้องการ โดยมีสื่อมวลชนนั้น เป็นตัวกลางในการส่งสื่อไปให้คนจำนวนมากได้รับรู้ อาจเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร การประชาสัมพันธ์ โฆษณา รวมไปถึงสื่อต่างๆ ทำให้คนเข้าใจข่าวสารตรงกัน เรียนรู้เพื่อสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

***************************************************

 

บทที่ ๑ 

บทนำ 

 

 

๑.๑ ความเป็นมาและความสำคัญ 

 

       ๑.๑.๑ พระพุทธศาสนา

                 พระพุทธศาสนามีถิ่นกำเนิดในชมพูทวีปปัจจุบันคือประเทศอินเดีย เนปาล มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาเอก ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากอินเดียแต่ก็ได้ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกที่นับถือพระพุทธศาสนา  ได้เข้าไปนมัสการสังเวชนียสถานอยู่ตลอด  พระพุทธศาสนา ถือเป็นศาสนาที่สูงส่งด้วยหลักธรรม กล่าวคือผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้นั้นย่อมมีความสุข ส่วนจะมีความสุขในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของแต่ละบุคคล ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงเป็นการศึกษาเพื่อถึงความหลุดพ้น หมายความว่าเริ่มต้นด้วยการศึกษาปริยัติให้รู้ถึงหลักการสำคัญจนเข้าใจแล้วจึงลงมือปฏิบัติ คือ ทดลองปฏิบัติตามทฤษฎีที่เรียนมา และปฏิบัตินี้จะนำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงแบบรู้แจ้งแทงตลอด จนสามารถเข้าถึงความหลุดพ้นคือ พระนิพพาน เรียกว่า รู้แล้วละและปล่อยวาง

                ธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมิใช้มีไว้  เพื่อศึกษาตอบสนองความต้องการเพียงเพื่ออยากรู้เท่านั้น แต่เป็นการศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้มีชีวิตที่ดีมีสุขแบบครองเรือนไปจนถึงสุขแบบพ้นจากเรือนและโลก 

      ๑.๑.๒ เศรษฐศาสตร์

                 ในระบบเศรษฐกิจที่ดำเนินไปภายใต้แบบแผนความคิดที่ได้วิวัฒนาการตลอดมานั้นเป็นการนำแนวความคิดที่ถือกำเนิดมาจากอารยธรรมตะวันตกมาใช้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อตะวันออกโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมแบบพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมอยู่เดิม ได้นำเอาแนวความคิดหรือปรัชญาตะวันตกมาจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคมของตนเองแล้ว อาจจะเกิดความไม่ประสานกัน ระหว่างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมค่านิยมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากอารยธรรมภายใต้แนวคิดของพระพุทธศาสนา และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

๑.๒ จุดเริ่มต้นของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และทฤษฎีทางพระพุทธศาสนา  

                   เท่าที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความสนใจกับส่วนที่เป็น Positive Statement มาก แต่ขณะเดียวกันการละเลยต่อเนื้อหาสาระทาง Normative  Statement ได้มีผลทำให้เศรษฐศาสตร์ขาดความสมบูรณ์ไป เนื่องจากเนื้อหาสองส่วนได้รับพัฒนาไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งโดยเนื้อหาและทั้งสองส่วน Positive  และ Normative ก็ยากที่จะแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาดเพราะการอธิบายผลใน Positive บางครั้งยังต้องคำนึงถึง What ought to be เช่นกัน เมื่อจะแปลสู่การปฏิบัติโดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงนโยบายการวินิจฉัยว่าควรจะเป็นอะไรและอย่างไร จึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

                    แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อสมมติฐานทั้งหลายนั้น เมื่อสภาพการณ์ต่างๆ หรือสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป แบบจำลองเหล่านั้นก็ตามวัดตามอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้นไม่ได้อย่างน่าพอใจหรือถ้าปรากฏการณ์ที่เบี่ยงเบนผิดธรรมชาติไปมากๆ  ก็จะทำให้แบบจำลองนั้นหมดความสำคัญเชิงอธิบายลงไปเลยเพราะปัญหาบางอย่างที่ซับซ้อนไม่ใช้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นปัญหาทางด้านศีลธรรม  จริยธรรมที่ผ่านมาทางปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย จึงทำให้ความเข้าใจที่เคยมีต่อสถานการณ์ต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกของแบบจำลองกลายเป็นความไม่เข้าใจขึ้นมา หนักเข้าก็จะเป็นสังคมที่ไม่เข้าใจตนเอง

                     ในขณะที่ทั้งเศรษฐศาสตร์และพระพุทธศาสนาต่างก็เป็นศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง  หากแต่เศรษฐศาสตร์ได้เน้นทางด้าน Positive Statement ส่วนทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นองค์ความรู้ในส่วนของ Normative  Statement ดังเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ปรัชญาการศึกษาแบบตะวันตกที่เน้นการศึกษาแบบแยกส่วนเพื่อให้เกิดความชำนาญพิเศษเฉพาะอย่าง (Specialization) นั้นได้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย  หากมาศึกษาในแนวทางของทรรศนะแบบองค์รวมบ้างทั้งเศรษฐศาสตร์และพระพุทธศาสนาจะช่วยให้เกิดมโนทัศน์ใหม่ที่สมบูรณ์ได้หรือไม่  อย่างไร  เพราะทั้ง  เศรษฐศาสตร์และพระพุทธศาสนาต่างก็ได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับทั้งในระดับปัจเจกบุคคล  และพหูชนเช่นกัน  จากความชี้ชัดทางด้าน Normative ของพระพุทธศาสนาที่ไม่เพียงแต่เป็นปรัชญาที่ให้แนวทางในการแก้ปัญหาเท่านั้น  แต่ยังเป็นแนวทางดำเนินไปเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นไปในตัวอีกด้วย  เพราะพระพุทธศาสนานั้นได้เน้นวิธีการมาก  จึงมีรายละเอียดในขั้นวิธีการมากพอเพียงกับปัญหาและการแก้ปัญหาจึงทำให้ทัศนะแบบองค์รวมน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

บทที่ ๒

เศรษฐศาสตร์ทั่วไป 

 

๒.๑ ความหมาย 

            คำว่า “เศรษฐศาสตร์” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า  “Economics” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ “Oikos” (House) ร่วมกับ Nenein (to manage) ซึ่งความหมายเดิมของ “Economics” จึงหมายถึงศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดการครอบครัว (Household management) [1] ต่อมาสังคมมีการเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการ ความหมายแบบเดิมจึงเปลี่ยนความหมายที่แคบไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ใหม่ๆ ของสังคมได้ และได้มีผู้นิยามความหมายเศรษฐศาสตร์ไว้ต่างๆ นานา สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาของวิชาสังคมศาสตร์ (Social Science)ซึ่งมีทัศนะการมองได้หลายแง่มุม เช่น

           ๒.๑.๑ มองในแง่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (Science of Wealth)

           Adam Smith (ค.ศ. 1776) ได้ให้นิยามไว้ว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” (Political Economy) หมายถึง การจัดการให้ประชาชนมีรายได้รับสูงหรือเพียงพอในการดำรงชีพ และเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากเพียงพอที่จะนำไปผลิตบริการสาธารณะ (Public Services) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำให้ประชาชนและรัฐบาลร่ำรวยขึ้นนั้นเอง

            ๒.๑.๒ มองในแง่เกี่ยวกับความสะดวกสบายทางด้านวัตถุ (Science of Material Welfare)

            Alfred Marshall นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1842-1924 ได้ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ Principles of Economics ว่าเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของต่างๆ ในการยังชีพและการกินดีอยู่ดี อาจจะศึกษาในส่วนบุคคลหรือทังสังคมก็ได้

            ๒.๑.๓ มองในแง่การเลือกและความขาดแคลน (Science of choice and Scarcity)

            Lionel Robbins (ค.ศ. 1945) กล่าวไว้ในหนังสือ An Essay in the Nature and Significance of Economics Science เศรษฐศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาถึงการเลือกหาหนทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน

            และ Pual A. Samuelson (ค.ศ. 1973) ได้ให้คำจำกัดความไว้ในหนังสือ Economics ว่า “เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการที่มนุษย์และสังคม เลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่จำกัดเพื่อ

ผลิตสินค้าต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่องกัน และจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าเหล่านั้นไปยังประชาชนโดยทั่วไปในสังคมเพื่อการบริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต[2]

              สำหรับประเด็นหลักๆที่เศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจจะอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร การผลิต การกระจายสินค้า การค้า และการแข่งขัน โดยหลักการแล้วคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์จะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกภายใต้ข้อจำกัดด้านความขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับทางเลือกนั้นๆนั่นเอง

              ถ้าจะให้พูดกันอย่างกว้างๆแล้ว เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการในเรื่องของความต้องการ อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากคำนิยามดังกล่าวแล้วก็ยังมีคำนิยามหลากหลายนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากศัพท์คำว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง จนมาถึงศัพท์สมัยใหม่คือคำว่าเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยให้คำนิยามเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็น "ศาสตร์เกี่ยวกับการคิด" ซึ่งตามประวัติของเศรษฐศาสตร์นั้นมีการศึกษาเกี่ยวกับ "ความมั่งคั่ง" จนกระทั่งเป็น "สวัสดิการ" ไปจนถึงการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับภาวะการได้อย่างเสียอย่าง (trade offs) แต่สำหรับสำนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างนีโอคลาสสิกจะให้ความสนใจเกี่ยวกับตัวแปรที่สามารถวัดค่าได้ และผลกระทบของมันกับระดับราคา

             หากจะกล่าวโดยสรุป สามารถกล่าวได้ว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ให้กับมนุษย์ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่จำกัด ศาสตร์นี้จึงให้ความสนใจว่าจะจัดสรรทรัพยากรอะไร ให้กับใคร เท่าใด เมื่อใด และอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

๒.๒ ประเภทของเศรษฐศาสตร์ 

              เศรษฐศาสตร์สามารถจำแนกออกได้ในหลายลักษณะ แต่โดยทั่วไปแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์จำแนกเป็นสาขาหลักตามลักษณะของวิธีการศึกษาได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ที่เน้นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในระดับย่อย และเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งเน้นพฤติกรรมเศรษฐกิจโดยส่วนรวม[3]               

             ๒.๒.๑ เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro Economiics)

              เป็นการศึกษาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในระดับหน่วยเล็กๆ ย่อยๆ ซึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล ครอบครัว และธุรกิจ ที่ใดที่หนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและบริการ การกำหนดเวลา การจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตเป็นต้น

              ๒.๒.๒ เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro Economiics)

              เป็นการศึกษาถึงเรื่องใหญ่ๆ ในลักษณะมวลรวมทั้งสังคมหรือทั้งประเทศ เช่นระดับรายได้ของคนทั้งประเทศ สถาบันการเงิน รายรับ รายจ่ายของประเทศ การค้าระหว่างประเทศตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น

              การศึกษา มีความจำเป็นจะต้องศึกษาทั้งเศรษฐศาสตร์จุลภาค และเศรษฐศาสตร์มหภาค เพราะทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวพันกัน และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เศรษฐศาสตร์จุลภาคในระดับหน่วยย่อย รวมกันทั้งหมดจะกลายเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค ตัวอย่างเช่น รายได้ของคนคนหนึ่งรวมกันทั้งประเทศก็จะกลายเป็นรายได้ของประชาชาติ ซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค และในด้านกลับกันเศรษฐศาสตร์มหภาค จะส่งผลในระดับเศรษฐศาสตร์จุลภาคด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่จะกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยให้เอกชนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค ก็จะส่งผลต่อการปรับตัวของหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่จะต้องปรับทิศทางการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของตัวเอง ซึ่งจะอยู่ในระดับเศรษฐศาสตร์จุลภาค[4]                  

            

๒.๓ วิธีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ 

            ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มีนักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามหาวิธีการหรือแบบแผนในการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างมีหลักเหตุและผลที่มีความเชื่อถือได้ และนำมาซึ่งการอธิบายและตอบสนองความต้องการในพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้น จึงได้แบ่งการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ไว้เป็น ๒ วิธี คือ วิธีการอนุมาน (Deductive Method) และวิธีการอุปมาน (Inductive Method) โดยจะมีวิธีการ ดังนี้

            ๒.๓.๑ วิธีอนุมาน (ศึกษาจากเหตุไปหาผล) เป็นการศึกษาจากสิ่งที่ไม่รู้ หรือจากสิ่งที่สมมติให้กลายเป็นสิ่งที่รู้ หรือเป็นจริง เริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐาน(Hypothesis) แล้วจึงพิสูจน์ข้อสมมติฐาน โดยการทดสอบ ทดลอง หรือสังเกตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงเกิดขึ้นสอดคล้องกับสมมติฐาน ย่อมแสดงว่าสมมติฐานนั้นถูกต้อง ยอมรับให้เป็นกฎหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ได้

            ๒.๓.๒ วิธีอุปมาน (ศึกษาจากผลเพื่อไปหาสาเหตุ) เป็นการศึกษาจากสิ่งที่รู้หรือเป็นจริงอยู่แล้วและค้นหาเหตุผล โดยการใช้ข้อสมมติฐานว่า ปัจจัยอื่นๆ คงที่ และเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วนำมาวิเคราะห์หาข้อสรุปด้วยวิธีการทางสถิติ

            ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์มักจะใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป[5]

๒.๔ ความสำคัญและประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ 

             เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่างๆ ฉะนั้นแล้วจึงมีความสำคัญ และมีประโยชน์ ดังนี้

             ๒.๔.๑ ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์ 

                        ๒.๔.๑.๑ เศรษฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล  เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน เช่น ปัญหาการเลือกใช้สินค้า ปัญหาการบริโภค ปัญหาการว่างงาน ปัญหาค่าจ้างแรงงาน เงินเดือนปัญหาการหารายได้ให้เพียงกับรายจ่าย ปัญหาเงินฝืดเงินเฟ้อ ปัญหาราคาสินค้า ปัญหาการลดค้าของเงิน ปัญหาการขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมมีความสำคัญ แต้องการผู้ที่มีความเข้าใจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ดีและถูกต้องวิชาเศรษฐศาสตร์ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์

                         ๒.๔.๑.๒ เศรษฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนของประเทศ การเรียนรู้หลักและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจกลไกลการทำงานของระบบเศรษฐกิจ เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของหน่วยต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ เช่นครัวเรือน ธุรกิจ และองค์การรัฐบาล ซึ่งความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่นี้ช่วยให้เข้าใจในนโยบายและแนวทางที่ทุกคนต้องปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มีประโยชน์มากที่สุดทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม

                         ๒.๔.๑.๓ เศรษฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหารงาน ผู้บริหารงานไม่ว่าจะเป็นระดับย่อย เช่น หน่วยธุรกิจ หรือจะเป็นระดับใหญ่ เช่น ผู้บริหารประเทศควรมีความรู้  และความเข้าใจในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการตัดสินใจต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปวิเคราะห์ หรือใช้ประกอบการกระทำนั้นๆ การมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้สามารถแปลข่าวสารหรือข้อมูลทางเศรษฐกิจ ทางการผลิต ทางการจำหน่ายและทางการบริโภคได้ดียิ่งขึ้น อันจะมีประโยชน์แก่การบริหารงานต่างๆ

                         ๒.๔.๑.๔ เศรษฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้รักษาผลประโยชน์ของประเทศได้ เพราะการดำเนินงานของประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น ทางด้านการค้าระหว่างประเทศการลงทุนระหว่างประเทศ การจัดตั้งกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศอันได้แก่การตั้งกำแพงภาษี การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การให้สัมปทาน และการส่งเสริมกิจกรรมบางอย่าง จำเป็นที่ฝ่ายบริหารระดับสูง ต้องมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานบ้าง เพื่อจะช่วยให้การตัดสินใจและการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่การบริหารประเทศมากขึ้น

                         ๒.๔.๑.๕ เศรษฐศาสตร์มีส่วนช่วยให้ประเทศมีความมั่นคง การบริหารทรัพยากร จะต้องบริหารด้วยความรอบครอบและด้วยความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ย่อมนำมาซึ่งความมั่นคั่งและช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ เพราะถ้ารู้จักวิธีใช้วิธีการจัดการที่ดิน ทรัพยากรนั้นถ้าจะมีอยู่ให้ใช้ไปได้นานยิ่งขึ้น และทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงไม่ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศอื่นโดยไม่จำเป็น[6]

             ๒.๔.๒ ประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์ 

                         ๒.๔.๒.๑ ช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผล การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

                         ๒.๔.๒.๒ เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจในการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

                         ๒.๔.๒.๓ ประโยชน์โดยทั่วไปที่ได้รับความรู้ จากการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ช่วยให้ทราบถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น[7] 

               

 ๒.๕ อุปสงค์ อุปทาน 

        ๒.๕.๑ อุปสงค์ (Demand)  หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้บริโภค มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาหนึ่ง ในระยะเวลาที่กำหนด โดยที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคมีความสามารถที่จะซื้อได้

                   ๒.๕.๑.๑ กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

                   ในการซื้อสินค้าและบริการ ถ้าให้ปริมาณหรือจำนวนการซื้อ (Quantity) ขึ้นอยู่กับราคา (Price) เพียงอย่างเดียว โดยสมมติให้ปัจจัยอื่นคงที่ ปรากฎการณ์โดยทั่วไป ผู้ซื้อจะซื้อสินค้าและบริการจำนวนเพิ่มขึ้นถ้าราคาสินค้าและบริการนั้นลดลง และในด้านกลับกัน เขาจะซื้อจำนวนลดลง ถ้าราคาสินค้าและบริการนั้นเพิ่มขึ้น

                    ดังนั้น กฎของอุปสงค์ ปริมาณหรือจำนวนการซื้อกับราคา จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางที่ตรงกันข้าม ซึ้งสามารถจะแสดงความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ ๓ ลักษณะด้วยกันคือ

                     ๑. แสดงด้วยสมการพีชคณิต

                     ๒. แสดงด้วยตาราง

                     ๓. แสดงด้วยกราฟ

         ๒.๕.๒ อุปทาน (Supply) หมายถึง ปริมาณสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตเต็มใจ จะขายในตลาดหนึ่งๆ ภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่งๆกัน ของสินค้าชนิดนั้น

            อุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง จะหมายถึงปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตเต็มใจจะนำออกขายในระยะใดระยะเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้เพราะบางครั้ง ผู้ผลิตอาจไม่พอใจในราคาสินค้าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น จึงนำสินค้าออกขายน้อยกว่าจำนวนที่ผลิตก็ได้

                     ๒.๕.๒.๑ กฎของอุปทาน (Law of Supply)

                     การที่ผู้ขายเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้า ในตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ในขั้นต้นสมมติให้ปริมาณเสนอขาย (Quantity) ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคา (Price) เพียงอย่างเดียว โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ ผู้ผลิตจะเต็มใจนำสินค้าออกมานำเสนอขายมาก ถ้าสินค้านั้นราคาสูงขึ้น และในทางตรงกันข้ามถ้าราคาสินค้าลดลง ผู้ผลิตมักไม่เต็มใจเสนอขาย จึงนำสินค้าออกขายในตลาดน้อยปรากฎการณ์ดังกล่าวเรียกว่า กฎของอุปทาน

 

๒.๖ เศรษฐกิจ 

                 เศรษฐกิจ (Economy) คือ การกระทำใด ๆ อันก่อให้เกิด การผลิต การจำหน่ายและการบริโภค ซึ่งความหมายในทางเศรษฐกิจจะแตกต่าง จากความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปบ้าง ดังนี้

                ๑.การผลิต คือ การกระทำเพื่อให้เกิดผลที่สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ หากการกระทำใด ซึ่งผลของการกระทำแม้จะมีคุณค่ามีประโยชน์แต่ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ การกระทำนั้นในความหมายทางเศรษฐกิจไม่ถือเป็นการผลิต และผลของการกระทำก็ไม่เรียกผลผลิต อาจจะเรียกเป็นผลงาน

                ๒.การจำหน่าย คือ การนำผลผลิตไปเสนอต่อผู้ที่มีความต้องการ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำผลผลิตไปสู่ตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อขายกันขึ้น

                ๓.การบริโภค คือ การจับจ่ายใช้สอยรวมถึงการรับประทานด้วย จะมองเห็นได้ว่า เศรษฐกิจนั้นจะเน้นที่ราคาหรือเงิน ของบางสิ่งถึงแม้จะมีประโยชน์ซึ่งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตจะขาดเสียมิได้ เช่น อากาศสำหรับหายใจ แต่เนื่องจากอากาศมีอยู่ทั่วไป ซื้อขายกันไม่ได้ อากาศจึงไม่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีคนเอาอากาศนั้นมาบรรจุในภาชนะ เพื่อจำหน่าย อากาศเช่นนั้นก็กลายเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจไป ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจจึงต้องเกี่ยวข้องกับราคาหรือเงินเสมอ

 

๒.๗ ระบบเศรษฐกิจ 

                   ระบบเศรษฐกิจ คือ หลักการและวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของรัฐ คือ ระบบสังคมนิยมและระบบทุนนิยม

                   ๒.๗.๑ ระบบสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยรัฐ กล่าวคือ รัฐจะเป็นเจ้าของทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยในการผลิตทุกอย่างแม้กระทั่งแรงงานเอกชนไม่มีสิทธิแม้แต่จะใช้แรงงานของตนในการเลือก ประกอบอาชีพตามความพอใจ รัฐเป็นทั้งเจ้าของและผู้ประกอบการกลไกราคาในการตัดสินใจปัญหาพื้นฐาน ราคาสินค้าและบริการค่าตอบแทนปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายจ่ายแจกผลผลิต จะถูกกำหนดโดยรัฐบาล นอกจากนั้นรัฐยังเป็นผู้กำหนดว่าจะผลิตอะไร โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค ระบบนี้เกิดขึ้นตามแนวความคิดที่ว่าหากปล่อยให้ทุกคนทำตามใจตัวเองไปคนละทิศละทาง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมได้ เพราะบางคนมีความรู้และประสบการณ์น้อยมองการณ์ไกลไม่เก่ง มีทุนมีกำลังน้อย อาจถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีกำลังเหนือกว่า ได้ และในเมื่อจุดหมายของสังคมก็คือความอยู่ดีกินดีและความเสมอภาคกันทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐจึงควรผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจเสียด้วย

                   ๒.๗.๒ ระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกมาก เช่น ระบบเศรษฐกิจเสรีบ้าง ระบบเสรีนิยมบ้าง ฯลฯ ระบบนี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนมีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยในการผลิตตลอดถึงการจัดการทรัพย์สินของตนอย่างอิสระ เอกชนทุกคนสามารถลงทุนแข่งขันกันในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลจะไม่เข้ามาแข่งขันกับเอกชน แต่จะคอยให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ระบบนี้เกิดขึ้นตามแนวความคิดที่ว่า การแข่งขันกันจะทำให้เกิดคุณภาพในการผลิตให้ตลาดหรือผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจระบบเศรษฐกิจของไทย


 

***************************************************

 

พระพุทธศาสนากับนิเวศวิทยาในปัจจุบัน

ความนำ                      

ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างวิกฤตและรุนแรง  ดังเห็นได้จากภัยธรรมชาติกำลังคุกคามชาวโลก หรือภาวะโลกร้อนจึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย  เช่น  เกิดพายุกระหน่ำในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรง    เกิดแผ่นดินไหว  ภัยแล้ง โรคระบาด ทำให้เกิดการสุญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายมหาศาลในหลาย ๆ ประเทศ เช่น พายุโซนร้อนถล่มพม่าในปีที่ผ่านมา   เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะดุลยภาพทางธรรมชาติเสียไป ระบบต่าง ๆ ของธรรมชาติก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นทุกวัน

พระพุทธศาสนากับนิเวศวิทยา นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน เพราะพระพุทธศาสนามีบ่อเกิดมาระบบนิเวศวิทยาในส่วนของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น พระภิกษุสามเณร ในฐานะของผู้นำจิตวิญญาณทางพระพุทธศาสนา ควรมีบทบาทหรือแสดงท่าทีอย่างไรบ้างต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

วัดและลักษณะของวัดในปัจจุบัน

ชนชาติไทยรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นทางดำเนินชีวิตมาเป็นเวลาช้านาน ลักษณะหมู่บ้านแบบไทยๆ โดยทั่วไปจะเห็นได้ว่า มีวัดอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน ชีวิตของประชาชนจึงมีความใกล้ชิดกับศาสนามาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มีวัดหรือพระพุทธศาสนาในหัวใจ การสร้างค่านิยมที่เอาศาสนาเป็นหัวใจของชีวิตและสังคมเป็นการสร้างชีวิตที่มีสันติสุข

ลักษณะของอารามในประเทศไทย มี ๒ ลักษณะ

๑.อรัญวาสี หรือวัดป่า ก็มีอยู่บ้างเช่นเดียวกัน มักจะตั้งอยู่ไกลจากหมู่บ้านพอสมควร ไม่ไกลจนขนาดตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะพระภิกษุผู้อาศัยอยู่ในเสนาสนะป่าก็ต้องพึ่งพาภัตตาหารและปัจจัยสี่จากชาวบ้านยังชีพ สถานที่ที่พักจะกลายเป็นวัดป่า ส่วนมากเป็นป่าดงดิบ มีความวิเวกวังเวงสงบเย็นมาก หรือไม่ก็ เป็นป่าช้าประจำหมู่บ้าน

ลักษะพิเศษของวัดป่าทั่วไป มักไม่มีการก่อสร้างวัตถุที่หรูหราไปด้วยปฎิมากรรมและศิลปกรรมอย่างวัดคามวาสีโดยทั่วไป แม้จะมีเสนาสนะก็จะเป็นเพียงกุฎิหลังเล็กๆ ที่พอให้ความสะดวกแก่ผู้พักเพื่อมุ่งบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นหลัก หรือพระภิกษุบางรูปถึงกับไม่ต้องสร้างกุฎิใดๆ เลยก็มีอาศัยเพียงปักกลดใต้ต้นไม้ที่เห็นว่าปลอดภัยเท่านั้น

ประชาชนตั้งแต่สมัยโบราณกาล มีความเชื่อถืออย่างฝังแน่นมาว่า พุทธศาสนิกชนไม่ควรนำเอาสมบัติวัด แม้ทรายเม็ดหนึ่ง หญ้าเส้นมาเป็นสมบัติส่วนตัว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพุทธศาสนิกชนเป็นผู้บำรุงศาสนา จะรับได้ก็คือ ธรรมะเท่านั้น ชาวพุทธโบราณจึงนิยมมอบสมบัติของตนให้แก่วัดวาอารามแล้วรับธรรมะ รับบุญกุศลมาเป็นสมบัติของตน เสียสละวัตถุธรรมเพื่อเน้นมรรควิถีให้เข้าถึงนามธรรม

อิทธิพลจากความเชื่อเหล่านี้ทำให้สภาพแวดล้อมของวัดค่อนข้างดี คือมีการรักษาป่า รักษาวัตถุโบราณสถานอยู่จำนวนไม่น้อย

 

กรณีศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสวนโมกขพลาราม

            สวนโมกขพลาราม อารามที่ใกล้ชิดธรรมชาติ

หลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองปีพ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันนี้ แม้ประเทศไทยจะมีวัดป่าที่รื่นรมย์เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่เจริญภาวนาอยู่หลายแห่งในประเทศไทย แต่วัดป่าที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นที่ปฏิบัติ ที่พยายามจะสร้างอารามตามแนวทางพระพุทธบัญญัติตามเหตุตามปัจจัยจะเอื้ออำนวย ก็คือสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี

ท่านพุทธทาสเริ่มสร้างในปลายปี พ.ศ.๒๔๗๕ ร่วมกับน้องชายโดยมีจุดประสงค์จะส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางธรรม โดยหวังว่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า กึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย  จุดมุงหมายที่แฝงไว้ในจุดเริ่มต้นของการสร้างสวนโมกข์นี้ มองว่าเมื่ออาณาจักรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในด้านพุทธจักรก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมะให้มีความใกล้เคียงกับพระธรรม และพระวินัยที่เคยปฏิบัติกันมามากยิ่งขึ้น พระธรรมวินัยเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่วิธีการศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมะที่ผ่านมา ยังจะถูก ปฏิบัติถูก และได้ผลเป็นความสงบเย็นอย่างถูกต้องต่อไป

แรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านพุทธทาสรักป่าและอยู่กับป่า

            มหาบุรุษหลายคนในโลกนี้ ทำงานใหญ่ได้สำเร็จ เพราะมีแรงบันดาลใจเป็นพลังขับเคลื่อน แรงบันดาลใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะแล้วได้แรงบันดาลใจออกแสวงหาโมกขธรรมแล้วเผยแผ่ให้ปรากฏ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชนตราบจนเท่าทุกวันนี้

            ท่านพุทธทาสรักป่า ดูแลป่า ทำงานในป่า ปฏิบัติธรรมในป่า เผยแผ่ธรรมในป่า มานานครึ่งศตวรรษ ก็ต้องมีแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่งพอสมควร ในสมัยที่ท่านสร้างสวนโมกข์ใหม่ๆท่านได้เขียนบันทึกเรื่อง อยู่แบบสวนโมกข์ตอนที่ว่าด้วยเรื่อง อยู่กลางดิน เอาไว้ว่า สถานที่อยู่ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติธรรมได้จริงนั้น ควรจะเป็นที่พ้นจากสิ่งรบกวนใจ ไม่ต้องกังวลดูแลรักษาจนหมดเวลา อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับธรรมไม่ทำให้ติด ไม่ทำให้มัวเมาถึงกับหลงทางและไม่เปิดช่องโหว่ให้พญามารรังแก เรียกตามภาษาธรรมะว่าเสนาสนะอันสงัด หรือที่รู้จักกันว่า การอยู่ป่า เจ้าลัทธิต่างๆในโบราณสมัยเช่นพระเยซูแห่งคริสต์ศาสนา ท่านมูหะหมัดแห่งอิสลามและขงจื้อแห่งจีน ปรากฏในตำนานว่า ได้พึ่งเสนาสนะอันสงัดหรือการอยู่ป่า เป็นที่เก็บตัวบ่มบารมีปรีชาเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าซึ่งเกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า และปรินิพพานในป่าเช่นกัน

จากบันทึกนี้พอจะประเมินได้ว่า ท่านพุทธทาสมีความเชื่อมั่นในเสนะอันสงัดตามที่ปรากฏในตำนานว่าพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีต ได้อาศัยเสนาสนะอันสงัดเป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมจนพบปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในชีวิตธรรมชาติและสรรพสิ่งจนพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ ความสำเร็จแห่งพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าผู้ใกล้ชิดธรรมชาติ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านพุทธทาสตัดสินใจใช้ป่าเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม โดยมุ่งเอาความหลุดพ้นเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้จะเห็นได้จากชื่อเต็มของสวนโมกขพลาราม แปลว่า ป่าไม้น่ารื่นรมย์อันเป็นกำลังให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์

 

๒.คามวาสี หรือวัดบ้าน มักจะตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ส่วนมากจะเน้นการก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ ที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันงดงามเป็นหลักมากกว่า วัดในหมู่บ้านหรือในเมืองที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงกลายเป็นหอศิลป์ประจำหมู่บ้านและชุมชนไปโดยปริยายปัจจุบันนี้จึงปรากฏว่าเมื่อชาวต่างชาติมาศึกษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณีก็ดี สถาปัตย์และศิลปะแบบไทยๆก็ดี ก็มักจะมุ่งไปชมที่วัดจะได้ข้อมูลมากไปที่อื่น

            สถานที่พักของพระภิกษุสามเณร มักก่อสร้างโอ่อ่าหรูหรา สวยงามกว่าสถานที่อยู่ของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งที่ในความเป็นจริง พระภิกษุดำรงอยู่ได้ด้วยประชาชน บางครั้งทำให้คนสมัยใหม่เกิดสับสนและสื่อมศรัทธาในภาพพจน์ดังกล่าวได้ง่ายๆแต่หากมองจากเจตนารมณ์ของชาวพุทธที่เป็นบรรพรุษจริงๆ แล้วก็จะพบว่าพวกเขามีวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป คือ คนสมัยใหม่มักมองสิ่งใดจากประโยชน์ตน อันมีวัตถุเป็นหลัก แต่คนสมัยโบราณมองสิ่งต่างๆ จากมุมจิตวิญญาณและธรรมะเป็นหลัก

ชาวพุทธโบราณยึดว่า ถ้าหมู่บ้านใดมีวัดสมบูรณ์อันประกอบด้วยโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และเสนาสนะที่พักของพระภิกษุมั่นคงถาวรสวยงามโดดเด่นจะแสดงถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจของประชาชนในหมู่บ้านนั้น แค่นั้นยังไม่พอ ยังสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีจิตใจงดงาม ใจดี ใคร่ธรรม ใคร่บุญกุศล มีความเสียสละ มองจากมุมมองนี้วัดจึงเป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและทางจิตใจที่ประชาชนทั้งหมู่บ้านเต็มใจแสดงออกมา

บทบาทของพุทธศาสนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

            เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุแห่งปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมและความสูญสิ้นไปของทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ ก็พบว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ จุดประสงค์ของการใช้สอยทรัพยากรที่มุ่งความมั่งคั่งร่ำรวย(วัตถุ)เป็นหลัก ความเจริญก้าวหน้าแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรล้วนเป็นสาเหตุหลักแห่งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        ปัจจัยหลักที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ อิทธิพล กำลังคน เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย วิชาการความรู้สาขาต่างๆ ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และปัจจัยเสริมอื่นๆอีก ปัจจัยเหล่านี้โดยปกติจะไม่ให้โทษกับใคร แต่ถ้าตกอยู่ในมือของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น กฎหมาย ระเบียบทางสังคม ศีลธรรม กฎของธรรมชาติและคุณค่าของธรรมชาติแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะกลายเป็นสื่อนำความเสียหายมาสู่มนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทันที

            หากจะตั้งประเด็นว่า ศาสนาจะมีบทบาทต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างบ้าง ก็จะต้องมองกันต่อไปอีกว่าจะเอาศาสนาในส่วนใดมาบูรณาการเพื่อประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องได้บ้าง เพราะศาสนามีองค์ประกอบหลักๆ ถึง ๔ อย่าง คือ ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ และศาสนพิธี หรือหากจะย่อให้เหลือสองอย่างก็คือเป็นองค์กรและหลักคำสอน

            ประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ ศาสนาควรยืนอยู่ ณ จุดใดต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จุดใดที่ศาสนาจะมีความพร้อมในการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขตามสติกำลังที่จะอำนวยให้

            หากจะพิจารณาถึงความพร้อมของศาสนาต่อการเผชิญหน้ากับปัญหานี้ที่มีอยู่จำกัด ศาสนาควรเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารมากกว่าการเป็นหน่วยปฏิบัติการในภาคสนาม ในบรรดาปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ หากปัญหาป่าไม้ทางศาสนาน่าจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลืออนุรักษ์ได้ไม่น้อยทีเดียว  ส่วนปัญหาอื่นๆ ศาสนาคงจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์เสนอคติให้สติสัมปชัญญะ ชี้โทษชี้ภัยของการทำลาย และชี้อานิสงค์ของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

            แนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ศาสนาจะพึงปฏิบัติได้ คือ

            ๑.ศาสนบุคคลอันประกอบด้วยพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา

            พระภิกษุสามเณรได้รับการยอมรับจากอุบาสกอุบาสิกา ให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และเป็นแบบแห่งการปฏิบัติชอบตามหลักพุทธธรรม พระภิกษุควรต้องศึกษาทำความเข้าใจ ถึงจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าและพระอริยบุคคลร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ที่ความความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ แล้วเลือกสรรมาประยุกต์กับปัจจุบัน

            ๒.พระภิกษุพึงอยู่เสนาสนะป่าในฐานะเสนาสนะอันสงัด เพื่อปฏิบัติตนให้รอดพ้นเป็นอิสรภาพจากอำนาจของกิเลสตัณหาโดยเด็ดขาดเป็นเป้าหมาย เมื่อตนเองได้ประสบสุขแท้อันเกิดจากความสงบ ทั้งกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก แล้วก็นำเอาสันติมรรคอันนั้น ออกอนุเคราะห์แก่พุทธศาสนิกชนหรือเพื่อมนุษย์ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย พอบุคคลเหล่านั้นได้ยิน ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตามหลักธรรม แล้วได้ลิ้มรสพระธรรม ก็จะเกิดศรัทธาเลื่อมใสในธรรมะว่า เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ก็คือการเคารพรักษาธรรมชาติ การเคารพรักษาดูแลธรรมชาติ ก็เท่ากับเป็นการดูแลรักษาธรรมชาติ การเคารพรักษาดูแลธรรมชาติก็เท่ากับเป็นการดูแลรักษาธรรมะ

            เมื่อประชาชนเกิดจิตสำนึกระลึกถึงคุณค่าของธรรมชาติ ที่มีต่อชีวิตของตนแล้ว พวกเขาก็จะมีเจตนาร่วมอันดีงาม ช่วยกันบำรุงรักษา ด้วยความเต็มใจ เราจึงพบว่าพระภิกษุที่สร้างวัดป่าเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมมักจะรักษาบริเวณป่าเอาไว้อย่างสมบูรณ์ ป่าก็รอดพ้นจากการทำลาย จิตใจของผู้อยู่ป่าก็รอดพ้นจากการครอบงำของกิเลสตัณหาดำรงชีพอย่างมีความสุข

        แม้ฆราวาสผู้มุ่งหน้าสร้างวัดป่าไว้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมก็สามารถรักษาป่าและรักษาใจไว้ได้โดยปกติสุข เช่น เจ้าชื่น สิโรรส ได้พบวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นวัดร้างมานานมีป่าอุดมสมบูรณ์โดยรอบ จึงตั้งใจนำทุนทรัพย์มาบูรณปฏิสังขรณ์โดยเน้นการรักษาธรรมชาติเป็นหลักจากปี พ.ศ.๒๔๙๒ ถึงปัจจุบัน ป่าบริเวณวัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังในสภาพสมบูรณ์ไม่มีการตัดโค่นโดยไม่จำเป็น

            ๓.วัดใกล้หมู่บ้านทั้งหลาย ควรสร้างวัดให้เป็นอาราม คือสถานที่อันร่มรื่น สะอาดสะอ้าน ภายในบริเวณวัดควรวางแผนผังเสนาสนะที่พักอาศัยให้เป็น

ระเบียบหมวดหมู่ ในการสร้างเสนาสนะควรปฏิบัติตามพุทธเจ้าบัญญัติว่าด้วยเรื่อง เสนาสนะ เป็นหลัก ไม่ควรทำตามอำนาจกิเลสตัณหาของพระภิกษุเอง หรือของประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาต้องตระหนักไว้เสมอว่า กุฎิพระจะอยู่กับธรรมชาติทุกชนิได้อย่างผสมผสานกลมกลืน ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติใดๆ

            ภายในบริเวณวัด หากมีที่ดินที่ว่างเปล่าก็ควรสร้างสวนป่ากลางวัดขึ้น หรือสถานที่ฟังธรรมตามธรรมชาติ หรือจะปลูกต้นไม้กระจายไปทั่ววัดเป็นการสร้างป่ากลางเมือง เช่นวัดสวนแก้วของพระอาจารย์พะยอม กลฺยาโณ หรือวัดชลประทานรังสฤษฎิ์ของท่านปัญญาภิกขุก็จะเป็นการดี

        วัดที่อยู่ในเมืองที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มิใช่เป็นเพียงสถานที่ที่เรียกว่า ปอด ของคนเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พักอาศัยของนกนานาพันธุ์อีกด้วย นกเหล่านั้นจะมากันเองโดยไม่ต้องจับมาปล่อยก็จะได้ดูแลนกไม่ให้ได้รับอันตรายอีกทางหนึ่งด้วย

            ความร่มรื่น ร่มเย็น เย็นกายเย็นใจด้วยร่มไม่และร่มธรรม ควรเป็นสัญลักษณ์แห่งวัดทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ทั้งวัดบ้านวัดป่า ช่วยกันดูแลรักษาต้น ช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ ช่วยปลูกซ่อมแซมตามความเหมาะสม ก็เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ดิน อนุรักษ์อากาศ ไปในตัวได้มากที่เดียว

            ๔.พระภิกษุควรเป็นผู้ทุ่มเทชีวิตเพื่อการอนุรักษ์ป่า

โดยพยายามขัดขวางผู้ทำลายป่าทุกรูปแบบ ควรหันหน้าเข้าหากัน แล้วทบทวนว่าวิธีการดังกล่าวปฏิบัติแล้วได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด ควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดเพื่อความเหมาะสม เพื่อความอยู่รอดของสมณเพศและป่า

            เท่าที่ผ่านมาครึ่งทศวรรษ พระภิกษุอนุรักษ์ที่แสดงตนชัดเจนว่าจะต่อสู้รักษาป่า รักษาน้ำเอาไว้ มักจะถูกต่อต้านขัดขวางจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มากด้วยอิทธิพล อำนาจ และเงินตรา มีหลายท่านถึงกับต้องขัดแย้งกับทางการ ต้องขึ้นศาล ต้องนั่งท้อแท้ทอดถอนใจไม่อยากทำอะไรเพราะถูกขัดขวางทุกรูปแบบ ผลสุดท้ายนอกจากรักษาป่าเอาไว้ไม่ได้แล้ว บางท่านพรหมจรรย์ก็ต้องพลอยสูญเสียไปด้วย

                หากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป พระอนุรักษ์ที่มีเจตนาอันบริสุทธิ์แน่วแน่ที่จะรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธารต้องถูกเบียดเบียน ไม่มีวันจบสิ้น จึงควรได้มีการตรวจสอบกระบวนการดำเนินการเหล่านั้น เสียใหม่ หากพบว่า ยิ่งทำไปก็ยิ่งถูกอกุศลวิตก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก  วิหิงสาวิตก ครอบงำ จนไม่มีเวลาได้ทบทวนเนกขัมมะคืออิสรภาพจากกิเลสาสวะเพียงพอ ก็ควรหันมาพิจารณา ถึงประเพณีของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าในการอยู่ป่ากันอีกครั้งแล้วเดินตามรอยพระองค์ท่านเพื่อให้พบกับสันติสุขส่วนตัวด้วย ป่าที่รักษาก็คงเหลืออยู่ด้วย

            หากจะเปิดแนวรบกับพวกทำลายป่าที่มีทั้งอำนาจ อิทธิพลอาวุธ กำลังคน เงินทุน อุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างเพียบพร้อมในขณะที่พระไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่เลย ยิ่งสู้ไป ทางแห่งชัยชนะยิ่งตีบตันเข้าทุกทีลองเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ สู้รบด้วยธรรมาวุธ โดยฝึกปรือให้เชี่ยวชาญก่อน แล้วจึงออกสนามรบ ทางนี้คิดว่า น่าจะมีลู่ทางแห่งชัยชนะหลงเหลืออยู่บ้าง

            ๕.การบูรณาการศาสนพิธีให้เข้ากับสถานการณ์

ศาสนพิธีแม้จะไม่ใช่เป็นแก่นของพุทธศาสนา แต่เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ชาวพุทธแต่ละท้องถิ่นคิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ระดับแก่นให้น่าศึกษาติดตามยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้เริ่มสนใจศาสนา เพิ่มพูนขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ

            ศาสนพิธี  ที่ประชาชนมักจะนำมาประยุกต์ในการรักษาป่าก็คือการบวชต้นไม้  บวชป่า เช่นป่าต้นน้ำ  ป่าประโยชน์ใช้สอย โดยเอาผ้าเหลืองไปพันรอบต้นไม้ ชาวพุทธที่เคยชินอยู่กับแนวความคิดทีว่า บวชดีนักแล ก็สามารถเชื่อมโยงความคิดทำความตกลงกันระหว่างวัด บ้าน ชุมชนหน่วยงานราชการ นี้มาสู่การอนุรักษ์ต้นไม้ว่า เมื่อต้นไม้ ป่าไม้ บวชแล้วก็ไม่ควรทำลาย บางแห่งก็มีการทำความตกลงร่วมกันว่าจะไม่จับสัตว์ป่า สัตว์น้ำในบริเวณนั้นเป็นต้น

            ๖.วัดควรทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน

ชุมชนที่ตั้งอยู่รอบๆ วัด ข้อมูลข่าวสารเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างๆควรจัดหามาไว้ให้มากที่สุดตามเหตุปัจจัยและสติกำลังที่จะเอื้ออำนวยเพราะธรรมชาติของสังคมไทย วัดทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิชาการเผยแพร่ความรู้ในด้านต่างๆกับใครๆ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน เช่น โครงการสร้างป่าชุมชน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางเก็บกล้าไม้และเป็นแม่แบบแห่งการสร้างความร่มรื่นโดยการปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สถานที่บริเวณวัดจะเอื้ออำนวย ในวันสำคัญต่างๆของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะช่วงที่ต้นไม้เพิ่มเติมและซ่อมเสริมส่วนที่ขาดเป็นหลัก

        ๗.การปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน

ทุกครั้งที่มีการแสดงธรรม ไม่ว่าจะเป็นปาฐกถาธรรมเทศนาธรรม เสวนาธรรม หรือวิธีอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้ฟัง เนื้อหาธรรมะที่เน้นเป็นพิเศษและเผยแพร่ให้มากที่สุดก็คือ ชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์ตลอดชีวิต ชี้ให้เห็นโทษของความเห็นแก่ตัวอันเป็นพลังผลักดันให้มนุษย์สร้างความหายนะให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างขาดความยั้งคิด โดยย้ำให้ตระหนักว่า ป่าที่หมดไป ดินที่เสื่อมสภาพความอุดมสมบูรณ์และพังทลาย น้ำในแม่น้ำสายใหญ่ที่กำลังจะเหือดแห้งไปและเน่าสนิท มลพิษทางอากาศและอุณหภูมิที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ส่วนกลุ่ม เป็นต้น

        หากมองกระบวนการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพุทธก็จะพบว่า เมื่อมนุษย์ถูกความโลภครอบงำ ก็อยากจะได้สรรพสิ่งมาเป็นของตัวโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนธรรม กฎธรรมชาติ แม้ที่สุดความตายก็ลืมคิดไปสนิท ความลุ่มหลงมัวเมาผิดๆ เรียกว่า โมหะ เข้าครอบงำ ความคิดดำเนินไปอย่างไร้สติสัมปชัญญะ พฤติกรรมที่ดำเนินไปภายใต้จิตใจที่ถูก โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสสวะอื่นๆ ครอบงำล้วนเป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวทั้งสิ้น

            ๘.การสร้างแกนนำกลุ่มยุวชนกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มเยาวชนคือกลุ่มคนที่จะเจริญเติบโตไปในอนาคต ส่วนเยาวชนจะเติบโตไปในทิศทางใด บทบาทของพระสงฆ์อาจจะเน้นการเผยแผ่กับกลุ่มเยาวชน เช่นบูรณาการการเข้าค่ายคุณธรรมเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อกลุ่มเยาวชนจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้ หรืออาจเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น          

            ๙.การสร้างแกนนำกลุ่มพระสงฆ์กลุ่มอนุรักษ์สู่มหาเถระสมาคม

            วัดต่างๆในประเทศไทยที่ยังมีทรัพยากรป่าไม่ที่ยังสมส่วนกันส่วนมากก็จะเป็นวัดป่าโดยส่วนมาก แต่วิธีการที่จะทำให้วัดอื่นๆ(เจ้าอาวาส,กรรมการวัด) เห็นดีเห็นงามด้วยคงต้องให้พระสงฆ์นักพัฒนา/นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมช่วยร่างนโยบายสู่มหาเถรสมาคม หรือบทบาทด้านมหาวิทยาลัยสงฆ์ควรที่นโยบายการบูรณาการสร้างองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สู่นิสิตหรือร่วมผลักดันสู่ความเป็นสาขาวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเป็นต้น

            ในอนาคตอันใกล้คือปี ๕๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาโลกขึ้น และในงานนี้มีกิจกรรมสำคัญหลายกิจกรรมและที่เป็นนิมิตหมายอันดีงานซึ่งสอดคล้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อนคือ การประชุมสัมมนาทางวิชาการเน้นการฟื้นตัวจากวิกฤติโลก ตามทัศนะเชิงพุทธ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญนั้นคือ การฟื้นตัวจากวิกฤติโลก โดยอาศัยนิเวทวิทยาเชิงพุทธ

       

            ๑๐.การสร้างภาคีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน

การสร้างภาคีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน ถือเป็นการบูรณาการณ์การทำงานร่วมกันที่ค่อนข้างมีผลออกมาที่ค่อนข้างดีเพราะเป็นการแสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคีในการอนุรักษ์ ที่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการผลักดันสู่ความสำเร็จเช่น วัด ชุมชน หน่วยงานราชการต่างๆทำงานร่วมกัน

 

***************************************************

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

   Main webboard   »   หน้าปฏิบัติ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Advertising Zone    Close


Online: 2 Visits: 128,544 Today: 15 PageView/Month: 171

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...