ชีวิตพระลูกวัดร่ำเปิง http://maka.siam2web.com
   Main webboard   »   หน้าปฏิบัติ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   บทความหลักธรรม  (Read: 2166 times - Reply: 0 comments)   
จักรกริช (Admin)

Posts: 119 topics
Joined: 10/3/2552

บทความหลักธรรม
« Thread Started on 25/12/2552 20:09:00 IP : 118.172.27.25 »
 

บทความหลักธรรม 

            ขอมอบบทความหลักธรรม นี้ เป็นของขวัญ จากใจสู่ใจ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ พ.ศ.ใหม่  ให้คุณผู้อ่าน ทั้งหลาย  ได้ประสบสุขสมปรารถนา ทุกท่านด้วยพระธรรมเทอญ

           การศึกษา การเรียนรู้ นั้น เป็นรากฐานแห่งความสุข ความเจริญ แบ่งออกเป็น  ๒  อย่าง  คือ     

           ๑.การศึกษาเรียนรู้  ภายนอกตัวออกไปเรื่อย ๆ จนถึงนอกโลก นอกจักรวาล ไม่มีที่สิ้นสุด

           ๒. การศึกษาเรียนรู้  ภายในตัวเข้าไป  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ของพวกเราทั้งหลายนั้น ทรงแนะนำสาวกทั้งหลาย ให้ศึกษาเรียนรู้  ภายในตนให้ละเอียดลึกซึ้งไปตามลำดับ  จนถอดรหัสลับของมารบาป-กิเลสชั่วร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ในตน แล้วทำลายให้หมดสิ้น.

           การศึกษา การเรียนรู้ ภายในตนนั้น ถ้าหวังผล ความสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลและไม่หลงงมงาย  ข้อปฏิบัติถูกตัอง ชัดเจน เปิดเผย นั่น ต้องอาศัยหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา(พระธรรมวินัย) เท่านั้น มาเป็นบรรทัดฐานเป็นแบบอย่าง เป็นแนวทาง เป็นเครื่องตัดสิน  ทั้งไม่มีใครที่จะนำเหตุผลความคิดของตนมาโต้แย้ง มาคัดค้าน

มา ขัดขวาง พระพุทธเจ้าหรือ พระธรรมวินัย  อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้   ถ้าผู้ใดนำเหตุผลความคิดของตนมาโต้แย้ง  มาคัดค้านพระพุทธเจ้า หรือ  พระธรรมวินัย  ก็ขอให้ท่านพิจารณา ว่า ท่านผู้นั้น เป็นอะไร  เป็นใคร  เป็นพระอรหันต์หรือไม่  เป็นพระอริยบุคคลหรือไม่  เป็นผู้เล่าเรียนพระธรรมวินัยมาแล้ว  แต่ประพฤติตามพระธรรมวินัยหรือไม่  เป็นผู้ใหญ่ผ่านวัยมามาก แต่ยังประพฤติตนตามใจกิเลสหรือไม่

นี้เป็นแนวทางการพิจารณาบุคคล ฯ             

            ถ้าต้องการตรวจสอบพระธรรมวินัยว่า เป็นของปลอมของแท้ เป็นธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใช่หรือไม่ใช่  และทำให้ปฏิบัติตามแล้วไม่ผิด  คือ  ธรรม วินัยใด เป็นไปเพื่อพอกพูน ราคะโทสะโมหะ เพิ่มพูนกิเลส อย่างนี้เป็นต้น พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ฯ       ธรรม วินัยใด เป็นไปเพื่อคลาย ราคะโทสะโมหะ  เพื่อความขัดเกลากิเลส  เพื่อความสิ้นทุกข์  เป็นไปเพื่อนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น  พึงรู้ว่า  ใช่แล้ว เป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ผู้ปฏิบัติตามแล้วไม่ผิด ฯ    และ วิธีการตรวจสอบบุคคล คือ  ถ้าบุคคลใดเรียนรู้พระธรรมวินัย  จะน้อยหรือมาก แล้วปฏิบัติเป็นไปเพื่อความมักมาก เพื่อความอำพราง เพื่อความหลอกลวง  เพื่อความปรารถนาลามก   เพื่อเพิ่มพูนกิเลส  อย่างนี้เป็นต้น  ก็ให้รู้ว่า ประพฤติให้ห่างไกลคุณธรรม  ห่างไกลคุณงามความดี    ห่างไกลพระธรรมวินัย ฯลฯ    แต่ถ้าบุคคลใดเรียนรู้พระธรรมวินัย  จะน้อยหรือมาก แล้วปฏิบัติเป็นไป เพื่อความมักน้อย  เพื่อความฝึกตน  เพื่อความซื่อตรง   เพื่อขัดเกลากิเลส  อย่างนี้เป็นต้น  ก็ให้รู้ว่า ประพฤติตามพระธรรมวินัย   ประพฤติห่างไกลกิเลส  ประพฤติเพื่อความยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา  ฯลฯ   (สมดัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า  อริยบุคคล ๘ (สี่คู่)   มีในธรรมวินัยนี้  เท่านั้น) หลักการตรวจสอบธรรมวินัย และ หลักการตรวจสอบบุคคล ว่า  ปลอม หรือ แท้,  เท็จ หรือ จริง,  ชั่ว หรือ ดี,  ผิด หรือ ถูกอย่างไรมี กล่าวไว้หลากหลาย ในพระไตรปิฎกฯ 

            การเรียนรู้ พระธรรมวินัย  กับ  การศึกษาสิกขาพระธรรมวินัย   ๒  อย่างนี้  มีความหมายต่างกัน คือ

ก.   การเรียนรู้ พระธรรมวินัย หมายถึง   การลอกเรียน   การเรียนแบบ  เอาแบบอย่างตามตำรา  ตามทฤษฎี ด้วย-การท่องจำ ด้วยการทรงจำไว้ ทั้งบอกได้  กล่าวได้   สอนได้  อย่างนี้ชื่อว่า เรียนรู้,  ไม่ใช่ชื่อว่า ศึกษาสิกขา,

ข.  การศึกษาสิกขาพระธรรมวินัย   หมายถึง   การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านหนังสือตำราพระพุทธศาสนา เรียนรู้-

พระ ธรรมวินัย  น้อยหรือมาก  แล้วเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้ง ให้ความสนใจอย่างใจจดใจจ่อ  ตั้งใจดูแลรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง   อยู่ในเรื่อง  ๓  อย่าง คือ  ศีลสิกขา   จิตตสิกขา  ปัญญาสิกขา  และพัฒนาการให้เจริญตามลำดับไปถึง อธิศีลสิกขา   อธิจิตตสิกขา  อธิปัญญาสิกขา 

          เปรียบเทียบ  การเรียนรู้ พระธรรมวินัย  กับ  การศึกษาสิกขาพระธรรมวินัย   ๒  อย่างนี้ ต่างกัน คือ

          การเรียนรู้ พระธรรมวินัย  เปรียบเหมือน  พนักงาน ยามเฝ้ารักษาดูแล รถยนต์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์  ย่อมรู้เห็นอุปกรณ์ต่าง ๆ  ของเครื่องยนต์และคอมพิวเตอร์ แต่ขับใช้ไม่เป็น  เพราะไม่ได้ฝึกหัดฝึกฝนมา, หรือ อีกอย่าง  เหมือนกับ ชายหนุ่ม  หรือ  หญิงสาว  ได้รู้เห็น หญิงสาว  หรือ  ชายหนุ่ม  น่ารักมากมายหลายคน  แต่ก็ไม่-รักชอบใครสักคนเดียว อย่างนี้มีชีวิตอยู่เป็นร้อยปี ก็ไม่มีคู่รัก คู่แต่งงาน ฉันนั้นเหมือนกันฯ

           การศึกษาสิกขาพระธรรมวินัย     เปรียบเหมือน บุคคลที่ได้ รู้ เห็น รถยนต์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ ว่า มีคุณประโยชน์อย่างไร แล้วก็ได้เรียนรู้  ได้ฝึกหัด  ได้ฝึกฝนใช้งานได้จนชำนาญ คล่องแคล่ว  บุคคลนี้ย่อมเป็นที่ต้องการของนายจ้างทั้งหลาย,   หรือ อีกอย่าง  เหมือนกับ  ชายหนุ่ม  หรือ  หญิงสาว ได้รู้ เห็น หญิงสาว  หรือ  ชายหนุ่ม มากมายหลายคน  แล้วก็เลือกรักชอบใครไว้เป็นคู่ใจสักคน  จากนั้นก็เอาใจรักผูกพัน ไปเรื่อย ๆ  อย่างนี้ บ่เมิน(ไม่นาน)  ได้ปิ๊งแน่  หรือแต่งงานตามประเพณี  ฉันนั้นเหมือนกันฯ  (โอ้ ?  เล่าความซะนาน เกือบลืมกัมมัฏฐาน )

         กายคตานุสสติ   หรือโกฏฐาสะบัญญัติ  คือ อาการ ๓๒ อย่าง (ชาวบ้านว่า ขวัญ ๓๒) มี  ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เป็นต้น ซึ่งเป็นชื่อองค์กัมมัฏฐาน หมวดหนึ่ง ใน อนุสสติ ๑๐,    (องค์กัมมัฏฐานนั้นมีมากมายหลายอย่าง  ผู้ที่ศึกษาสนใจกัมมัฏฐาน ให้เลือกเฟ้น องค์กัมมัฏฐาน ให้เหมาะกับจริตของตน  แต่ก็เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกได้ว่า องค์กัมมัฏฐานนี้  เหมาะกับจริตของท่าน มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จักรู้ดี  ถ้าใช้องค์กัมมัฏฐานไม่ถูกกับจริตแล้ว  ก็เหมือนกับเด็กที่ได้เรียนวิชาที่ถูกใจ  แต่หัวสมองมันไม่ไป ทำให้การเรียนขมขื่น)

          โลมา คือ ขนทั้งหลาย   ก็เป็นองค์อารมณ์กัมมัฏฐาน  กองหนึ่ง  ในอาการ ๓๒ นั้น ทั้งเป็น องค์อารมณ์กัมมัฏฐาน  ที่ทำให้ผู้ศึกษาพิจารณา เรียนรู้    ได้ความรู้และประโยชน์มากมาย หลากหลาย  ถึง  ๘  อย่าง คือ                  

          ๑.  สิกขา,  สิกขาบท แปลว่า ควรศึกษา,  ข้อควรศึกษา,  การเอาใจใส่ต่อเนื่องเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่ง สอนของพระพุทธศาสนา โดยมีหลักการ  ๓ อย่าง  คือ

(๑)  ศีลสิกขา  คือ  การเอาใจใส่ต่อเนื่องเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัย ด้วยศีล  ให้ถึงคุณอันยิ่ง- ใหญ่  ชื่อว่า  อธิศีลสิกขา (คือโสดาบันบุคคล, สกทาคามีบุคคล, บุคคลผู้ยิ่งด้วยศีล มีสมาธิ ปัญญาพอประมาณ)

(๒)  จิตตสิกขา คือ  การเอาใจใส่ต่อเนื่องเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัย ด้วยจิต  ให้ถึงคุณอันยิ่ง- ใหญ่ ชื่อว่า  อธิจิตตสิกขา (คือ อนาคามีบุคคล, บุคคลผู้ยิ่งด้วยศีล   ยิ่งด้วยสมาธิ   มีปัญญาพอประมาณ)

(๓)  ปัญญาสิกขา คือ  การเอาใจใส่ต่อเนื่องเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัย ด้วยจิต  ให้ถึงคุณอันยิ่งใหญ่ ชื่อว่า  อธิปัญญาสิกขา (คือ พระอรหันตบุคคล, บุคคลผู้ยิ่งด้วยศีล   ยิ่งด้วยสมาธิ   ยิ่งด้วยปัญญา)

 ศีลสิกขา    จิตตสิกขา  ปัญญาสิกขา ทั้ง ๓ นี้ รวมกันชื่อว่า ไตรสิกขา   เรียกอีกอย่างว่า    ศีล  สมาธิ  ปัญญา ฯ  

   อธิบายเปรียบเทียบ

            คำว่า    ไฟ,   เป็นของร้อน  เป็นของเผาไหม้   เป็นของเผาผลาญ   เป็นของทำลายล้าง  เป็นของให้แสงสว่าง ฯลฯ

            คำว่า   ไฟ,   มีความหมายหลายอย่าง  เช่นว่า  ไฟ  คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ,   ไฟ  คือความ โลภ โกรธ  หลง,  ไฟ  คือ  อกุศลมูล,   ไฟ ภายใน  คือ ราคะ  โทสะ  โมหะ  ฯลฯ ,    ไฟภายนอก  คือ  ราคะ  โทสะ   โมหะ ฯลฯ,

        คำว่า  ไฟ,  เป็นของเย็น ใช้ดับของร้อน,   ไฟ  ใช้ป้องกันไฟป่าก็ได้,  ไฟ  ใช้ป้องกันไฟภายนอกก็ได้  ดังมีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้า  พระมหาโมคคัลลาน์  พระสาคตะ ถูกพญานาคพ่นพิษไฟใส่พระพุทธเจ้า  พระมหาโมคคัลลาน์  พระสาคตะ ก็พ่นพิษไฟ ที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ มีกสิณไฟเป็นอารมณ์ กัมมัฏฐาน  ตอบโต้พญานาค พญานาคหมดฤทธิ์ยอมแพ้,   

         ไฟ ......  ใช้ไฟภายใน ดับไฟภายใน และใช้ไฟภายในดับไฟภายนอก ในที่นี้ คือ  ไตรสิกขา  เป็นไฟภายใน กันไฟ  ป้องกันไฟ  ดับไฟ คือ ราคะ โทสะ  โมหะ อันเป็นไฟภายใน  ไม่ให้ลุกลามในภายในแล้วออกมาภายนอก และใช้ไตรสิกขา  อันเป็นไฟภายใน กันไฟ ป้องกันไฟ  ดับไฟภายนอกไม่ให้ลุกลามเข้ามาในภายใน  เรื่องไฟๆนี้ หลวงพ่อโสภณฯ (ตุ๊ลุงทอง)  เทศน์ว่า มี ผัว เมีย ครอบครัวหนึ่ง  รักกันมากอยู่ร่วมกันมาสิบ ๆ ปี อย่างความสุข วันหนึ่ง ผัวเมียคู่นี้ ได้ยินเพื่อนบ้านคนอื่นมาพูดยุแหย่ ว่า เมียเป็นผีกระสือ ผัวเป็นผีกระหังอยู่ร่วมกันด้วยมนต์คาถาอย่างหนึ่ง  วันต่อมาไม่นาน ความระแวงสงสัยในเรื่องที่ได้ยินนั้นก็ปะทุเหมือนไฟที่ไหม้กองฟืนใหญ่เหลือ แต่ขี้เถ้า ครอบครัวแตกแยกล้มละลาย เพราะเชื่อคำพูดภายนอกนิดเดียว       ชี้ให้เห็นว่า เอาไฟข้างนอกมาเผาคนในฯ   พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ไฟ คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ  ฯลฯ ทั้งภายในภายนอกนั้น ย่อมเผาผลาญ ทำลายล้างความสุขความเจริญ คุณงามความดีของบุคคล ของครอบครัว ของหมู่คณะ  ของชุมชน  ของสังคม ตลอดไป

ถึง ภาวะโลกร้อน  และอบายภูมิ ๔ เป็นที่หวัง, เมื่อบุคคลมี ไฟ คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ หรือโลภ  โกรธ  หลง อกุศลมูลเหล่านี้  ย่อมมองโลกด้วยความวิปลาส เช่น

         (ราคะ) สมัย พุทธกาล มีลูกชายเศรษฐี คนหนึ่ง ไปเที่ยวนอกเมืองช่วงเช้า ได้เห็นพระมหากัจจายนะ  เวิกผ้าสบง จีวร เพื่อข้ามน้ำ ไปบิณฑบาต  ลูกชายเศรษฐีเห็นขาของพระมหาเถระ  แล้วคิดว่า โอ้  ขาของพระคุณเจ้างามหนอ พระคุณเจ้างามหนอ   ถ้าพระคุณเจ้าเป็นภรรยาเรา  หรือว่า ภรรยาเรา  งามเหมือนพระคุณเจ้านี้  เราก็จักมีความสุขอย่างยิ่ง  เมื่อคิดอย่างนี้จบ  ร่างกายของลูกชายเศรษฐีก็กลายเป็นผู้หญิงสาว เรื่องราวอยู่ในพระธรรมบท,    เรื่องธนุกบัณฑิต มีว่า  หญิงสาวคนหนึ่ง  พ่อได้ยกลูกสาวให้ชายชาตรีรูปงาม  เลิศด้วยศีลปะความรู้ผู้เป็นศิษย์  คนหนึ่งโดยจัดการแต่งงานให้ฯ   หลังจากนั้นก็ชวนสามีผู้เป็นเจ้าของหัวใจสาวน้อยไปเที่ยวมาตุภูมิของสามี  ระหว่างทาง กลางป่าชายชาตรีได้ต่อสู้กับกลุ่มโจร ๕๐ คน  ใช้ธนูยิงลูกน้องโจรตาย ๔๙  แล้วจับหัวหน้าโจรได้ด้วยกำลัง  จับคอกดหัวหน้าโจรให้ลงกับพื้นแล้ว บอกสาวน้อยคู่รัก  ให้เอาดาบยื่นมา แต่สาวน้อยคู่รัก จิตใจโลเล รักง่ายหน่ายเร็ว เห็นโจรรูปงามไม่นานก็หลงรัก  คิดฆ่าสามีที่ประเสริฐล้ำเลิศเสีย โดยยื่นด้ามดาบให้นายโจร ที่หลงรักเอาเป็นชู้   ยื่นฝักดาบให้สามีคู่รักผู้เป็นเจ้าของหัวใจมานานปี,     เรื่องราว มีอยู่ในพระไตรปิฎกหมวดชาดกฯ   

       (โทสะ) เมื่อครั้ง  เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสละราชสมบัติ แล้วทรงเสด็จออกบวชตอนกลางคืนเพื่อแสวงหาคุณธรรมอันเยี่ยมยอด เพื่อความพ้นทุกข์ คือ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  (หน๋อยแน๊ะ)   อุตส่าห์ แอบหนีออกตอนกลางคืนไม่ให้ใครรู้  ยั้งมาเจอพญามารมาขัดขวางที่นอกประตูเมืองอีก  พญามารขู่ ว่า  เมื่อพระลูกเจ้าบวชถ้าเมื่อใด พระลูกเจ้าคิดถึง ๓ อย่างคือ  คิดถึง ฆราวาส (กามวิตก),   คิดถึงความอาฆาตเคียดแค้น (พยาบาทวิตก),  คิดความเบียดเบียนทำลายล้าง (วิหิงสาวิตก)  เมื่อใด    ข้าพเจ้าจักรู้กรรมอันสมควรแก่ท่าน    พระลูกเจ้าบวชเป็นมหาสมณะ ครบ ๖ ปี  วันที่จักตรัสรู้    พวกพญามารมากกว่าแสนกว่าล้าน   มาขู่แย่งเอาที่นั่ง   อันเป็นที่ประทับนั่งเพื่อตรัสรู้ฯ  พระพุทธเจ้าของเราครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรได้ให้ช้างเผือกคู่บารมี เป็นทาน ก็ถูกชาวโลกตำหนิติเตียน  ไม่พอใจ ประณามขับไล่  ให้ออกจากเมืองไปอยู่ป่าบวชเป็นดาบสฤาษีฯลฯ  

         (โมหะ หลง  ไม่รู้ )    พระพุทธเจ้าของเรา ครั้งเสวยพระชาติเป็นเศรษฐี  เป็นผู้ยินดียิ่งในการให้ทาน กิตติศัพท์ชื่อเสียงเลื่องลือไปไกลถึงสวรรค์เทวดาฟากฟ้า   พระอินทร์อยู่บนสวรรค์ฟากฟ้า    ไม่รู้ สงสัยลงมาแกล้งเศรษฐี โดย บันดาลให้ทรัพย์สมบัติของเศรษฐีฉิบหายอันตรธารไปหมด   เศรษฐีก็ยากจนลง พาภรรยาไปเกี่ยวหญ้ามาขายบำเพ็ญทานเลี้ยงชีพ   เศรษฐีมีความมุ่งมั่นในการให้ทาน   กินอาหารน้อยจนหน้ามืดเป็นลมล้มลง    ฟื้นขึ้นพระอินทร์ เข้ามาไต่ถาม รู้ความแล้ว ก็ชื่นชมดีใจอนุโมทนาความมุ่งมั่นของเศรษฐี   จึงได้ให้พรแก่เศรษฐีสมปรารถนา   แล้วก็ ถวีวี่วี ขึ้นสู่ฟากฟ้าฯ    เรื่องนี้มีปรากฏในชาดก,

         ก็จักเห็นได้ว่า บุคคล ชาวบ้าน ชาวเมือง  ชาวโลก ตลอดไปถึงชาวสวรรค์เทวดาฟากฟ้า  พระอินทร์พระพรหม มาร  ยักษ์ทั้งหลาย  ไม่รู้คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถูกต้องดีพอ  ความคิด จิตใจก็เต็มไปด้วย ความโลภ โกรธ  หลง (ถ้าชอบใจอยากได้, ถ้าไม่ชอบใจระรานทำลาย, ถ้าไม่รู้ วางเฉย ล้อเลียน กั่นแกล้ง)  เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ทุกรูป ที่ต้องช่วยกันเปิดเผย คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สังคม  ชาวบ้าน ชาวเมือง  ชาวโลก  ตลอดไปถึงชาวสวรรค์เทวดาฟากฟ้า  ได้รับรู้ทั่วกัน มีพุทธพจน์ ว่า สิ่ง ๓ อย่าง  ถ้าปกปิดไว้ไม่รุ่งเรือง ไร้ประโยชน์    ถ้าเปิดเผยย่อมรุ่งเรืองมีประโยชน์แก่ชาวโลกมาก สิ่งนั้นคือ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สมมุติว่าถ้ามีอะไร มาปิดไว้ไม่ให้ฉายแสงมาสู่โลกสักเดือน มันจักเป็นอย่างไรฯ  ส่วนคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ใดไม่รู้ไม่เข้าใจดีพอ ก็จักประพฤติผิด ๆ  ถูกเช่นเรื่องราว ของพระ- โลสกะติสสะ อดอยากอาหารลำบาก ในชาดกเรื่องที่  ๔๑,   และเรื่องราว ของพระชัมภุกะเป็นลูกเศรษฐี ก่อนในพุทธศาสนา ไม่นุ่งผ้าเปลือยกาย นอนบนแผ่นหิน  กินขี้ของตนและผู้อื่นเป็นอาหาร  เรื่องปรากฎในพระธรรมบท     

         ๒.  ศีล  แปลว่า  ปกติ,    มี ๓  คือ   อกุศลศีล,    กุศลศีล,   อัพยากฤตศีล,

(๑)   อกุศลศีล  คือ บุคคลผู้ประพฤติชั่ว ทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาคำพูด  ด้วยใจ  ผู้เหลาะแหละโดยปกติ, 

(๒)  กุศลศีล  บุคคลผู้ประพฤติดี สุจริตด้วยกาย  ด้วยวาจาคำพูด  ด้วยใจ   ผู้มั่นคงโดยปกติ, 

(๓)  อัพยากฤตศีล   คือ  พระอรหันต์บริสุทธิวิเศษโดยปกติ  โดยไม่ต้องใช้เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น  เพราะอริยมรรคจิตที่เกิดขึ้น  ได้ตัดความชั่วหมดสิ้นแล้ว  เหมือนคนไข้ที่โรคหายขาดดีแล้ว    ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บยาไว้กิน,  ลมหายใจ  แก่  ตาย เป็นอาการปกติ,  ผม  ขน  เล็บ งอกยาวออกมาเป็นอาการปกติ,  ต้นไม้  พืชผล  พืชผัก  วัชพืช  งอกงามขึ้น  ปรากฏอยู่  แล้วเสื่อมไปเป็นไปตามปกติฯลฯ

          ๓. โลมากัมมัฏฐาน   ขอแยกศัพท์ก่อน   โลมา + กัมมะ+ ฐาน 

โลมา  แปลว่า ขนทั้งหลาย, กัมมะ แปลว่า การงาน  การกระทำ,  ฐาน  แปลว่า ที่  ที่ตั้ง  ตำแหน่ง,  เมื่อแปลเอาเนื้อความ ว่า  ขนเป็นที่ ทำงาน ของจิตใจคือ เป็นอารมณ์ของจิตใจ

           ขน.. เป็นองค์กัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง  ในอนุสติกัมมัฏฐาน ๑๐ นั้น  อนุสติกัมมัฏฐาน ๑๐  มี อะไรบ้าง คือ

(๑)   พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๒)  ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเจ้าอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๓)  สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสังฆเจ้าอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๔)  สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณของศีลหรือความประพฤติดีของตนอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๕)  จาคานุสสติ ระลึกถึงคุณของการบริจาคทานของตนอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๖)  เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา ว่า เรามีคุณธรรมนั้นอยู่ อยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๗)  อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระนิพพานอันมีสภาพสงบจากกิเลสพ้นจากทุกข์อยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์ 

(๘)  มรณานุสสติ ระลึกถึงชีวิตมีความตายเป็นธรรมดาไม่พึงประมาทให้ใส่ใจในคุณงามความดีอยู่เนือง ๆ ฯลฯ 

(๙)  กายคตานุสสติ ระลึกถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ๓๒ (ชาวบ้านว่าขวัญ ๓๒) มี ผม ขน  เล็บ ฟัน  หนัง เนื้อ เส้นเอ็น เป็นต้นอยู่เนือง ๆ  เป็นอารมณ์ 

(๑๐) อานาปานัสสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้า  ลมหายใจออกของตนอยู่เนือง ๆ เป็นอารมณ์  

          ขออธิบาย  กัมมัฏฐาน ๆ  นั้น แปลว่า ที่ทำงาน  หรือ  ที่ทำการ  ของจิตใจ  คือ เป็น อารมณ์ของจิตใจ  หรือ เป็น อาหารของจิตใจ,   กัมมัฏฐาน  นั้นมี  ๒  อย่าง คือ  ๑  สมถภาวนากัมมัฏฐาน   ๒ วิปัสสนาภาวนากัมมัฏฐาน,   

(๑)  สมถภาวนากัมมัฏฐาน  ที่ทำการเพื่อให้จิตใจ มี ความสงบ  หรือ  อาหารที่ที่ทำให้จิตใจ มี ความสงบ

(๒) วิปัสสนาภาวนากัมมัฏฐาน ที่ทำการเพื่อให้จิตใจ มีความเห็นพิเศษ หรือ อาหารที่ที่ทำให้จิตใจ มีความเห็นแจ้ง   

           สมถภาวนา ฯ  นี้ ประสงค์เพื่อความสงบ มีองค์กัมมัฏฐาน  ๔๐ อย่าง  ส่วน กายคตานุสสติ  กองนี้มี ๓๒  

           วิปัสสนาภาวนา ฯ นี้ ประสงค์เพื่อความ เห็นวิเศษ  เห็นแจ้ง  รู้แจ้ง ในอารมณ์กัมมัฏฐาน  คือ

มี ๒ คือ  รูป นาม,   มี ๓ คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา,  มี ๔ สติปัฏฐาน ๔,  มี ๕ ขันธ์ ๕ เป็นต้น

           สมถภาวนากัมมัฏฐาน   วิปัสสนาภาวนากัมมัฏฐาน ทั้ง ๒ อย่างนี้ ทำให้ ผู้เจริญ ผู้ปฏิบัติได้อานิสงค์ คือ มีศีลสิกขา  จิตตสิกขา  ปัญญาสิกขา  พัฒนาการสมบูรณ์ถึงที่สุด คือ อธิศีลสิกขา  อธิจิตต สิกขา   อธิปัญญาสิกขา 

           องค์กัมมัฏฐานทั้งหลายนั้น   มีความหยาบ  ประณีต สุขุมลึกซึ้ง ปรากฏได้ง่าย ปรากฏได้ยาก ปรากฏได้เร็ว ปรากฏได้ช้า  แตกต่างกันไป  เช่น อนุสสติ ข้อ ที่ ๑ ถึง ๘,  เป็นอารมณ์ประณีต สุขุมลึกซึ้ง   ปรากฏได้ยาก  ผู้ที่จะ บำเพ็ญ เรียนรู้ให้เข้าใจให้ดีเหียก่อน (ดีไม่เสีย) จึงจะได้ดีสำเร็จผล  การบำเพ็ญกัมมัฏฐาน นั้น ต้องมีองค์กัมมัฏฐาน ปรากฏตั้งอยู่  เพื่อให้จิตใจมีที่เกาะเกี่ยว ยึดมั่นอาศัยเป็นอารมณ์ได้  ถ้าไปนึกคิด คาดเดาเอามาเป็นอารมณ์ มีหวังเป็นบ้าหรือเสียเวลาเปล่า ๆ  (เปรียบเหมือนบุคคล   จักทำบุญฉลองบ้านใหม่หลังงาม   อันมีอยู่ในความคิดในฝัน ถ้าอย่างนี้ อาตมาไม่รับนิมนต์   โน่น ?  ให้ไปเชิญหมอสวนปรุงมาแทนพระ,  หรือเช่นว่า ชายหนุ่ม หญิงสาว  คนใด  จักแต่งงานกับคนงาม   อันมีอยู่ในความคิดในฝัน ถ้าอย่างนี้ หมดโอกาสได้ลูกหลาน  แต่มีหวังได้ใกล้หมอหนุ่ม ๆ  สาว ๆ ที่ ร พ. สวนปรุง แน่ ๆ ,แฮ๊ะ )

            ส่วนอนุสสติ ข้อที่ ๙,๑๐,  เป็นอารมณ์ที่หยาบ  ปรากฏได้ง่าย  ปรากฏตั้งอยู่    ทำให้จิตใจเกาะเกี่ยว ยึดมั่นอาศัยเป็นอารมณ์ได้ง่าย   เป็นองค์กัมมัฏฐาน มีอารมณ์ตื้น   เริ่มต้นการบำเพ็ญได้ง่ายไม่ซับซ้อน  แต่ก็ทำให้จิตใจกระเพื่อมหวั่นไหวได้ง่ายเหมือนกัน เช่นเปรียบเหมือน   เสาหลักที่ฝังตื้น   ถ้าไม่ประคองรักษาไว้ให้ดี   อาจล้มลงหรือ ถูกถอดถอน เคลื่อนย้ายไปที่อื่นได้,  หรือเช่นว่า    วัตถุสิ่งของที่เบาหรือเล็ก  ถ้าไม่ประคองรักษาไว้ให้ดี   อาจ ถูกลมพัดให้เคลื่อนย้ายเสียหายได้            

            ขน ทั้งหลาย   เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย  ในอาการ ๓๒ นั้น  (ชาวบ้านว่า ขวัญ ๓๒) ทั้งเป็นอารมณ์  ของกัมมัฏฐาน องค์หนึ่งในจำนวนองค์กัมมัฏฐานทั้งหลาย พระเณรผู้บวชใหม่ พระอุปัชฌาย์ คือ พระผู้รับประกันการเข้ามาบวช  หรือ  เป็นผู้นำรับรองการเข้ามาบวช  ก็บอกให้เอา  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  ให้เป็นเบื้องต้นอารมณ์ของกัมมัฏฐานทั้งหลาย     เพื่อไว้ให้พิจารณาให้เห็นคุณและโทษของสิ่งนั้น    แล้วเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้จิตใจตั้งมั่นในความเป็นพระเณร   แล้วก็จักได้ผ่อนคลายความยึดมั่นปล่อยวาง กระแสของโลก คือ  ความโลภ  โกรธ  หลง ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  นินทา  มันเป็นธรรมดาประจำใจของโลกชาวบ้าน   เพราะความโลภ  โกรธ  หลง ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  นินทา   นี้มันเป็นเหมือนกับไฟที่ไม่มีเปลวเถ้าถ่าน แต่มันชอบไหม้เผาผลาญคุณธรรม  คุณงามความดีของผู้ประมาท   ( ดังมีผู้รู้กล่าวไว้ว่า  อย่าเอาไฟข้างนอกเข้ามาเผาสิ่งของข้างใน  อย่าปล่อยไฟข้างใน  ไหม้เผาผลาญสิ่งของข้างใน  แล้วก็ลุกลามไปข้างนอก  อย่างนี้ไม่ดีแน่,  ควรอย่างยิ่ง ให้ขวนขวายมีไฟข้างในไว้ใช้ (ศีล สมาธิ ปัญญา)  เพื่อดับไฟข้างในแล้วป้องกันไฟข้างนอก อย่าให้ลุกลามเข้ามา)

          ๔.  สรีระวิทยา   คือ  การศึกษาเรียนรู้ให้รู้แจ้งในร่างกาย ฯ  ร่างกายของตนเองนี้เป็นสิ่งที่น่าควรศึกษาเรียนรู้  ให้รู้แจ้งเป็นอย่างยิ่ง  สมดังพระวิปัสสนาจารย์กล่าวสอนว่า   นามรูปปริจเฉทญาณ  การกำหนดความเป็นเป็นไปของร่างกายและจิตใจ    เหมือนดังพระมหาสารีบุตรอัครสาวก   บอกเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า  ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย   เมื่อภิกษุทั้งหลาย  ไม่ฉลาดรู้ในจิตของผู้   ก็ควรที่ฉลาดรู้ในจิตของตน ฯ (ที่มา  ในพระไตรปิฎก)

           ๕. จิตวิทยา,  จิตวิทยาสังคม,  คือ การศึกษาเรียนรู้ ให้รู้แจ้งอาการเป็นไปแห่งจิตใจของบุคคลผู้เป็นไปร่วมกัน (ไปหรืออยู่ร่วมพร้อมกัน)ฯ บุคคลผู้อาศัยอยู่ร่วมกันในโลกนี้  ย่อมมีความแตกต่างกันทางความคิดและคุณธรรม  คือ  เป็น อริยชนก็มี  วิญญูชนก็มี  ปัญญาชนก็มี  กัลยาณชนก็มี  บาปชนก็มี  (สมดังพระศาสดาตรัสว่า  บุคคลย่อมอยู่ร่วม ย่อมคบกันด้วยธาตุฯ) เมื่อบุคคลผู้มีความโลภ โกรธ  หลง เป็นมูลมีอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่มีโปรแกรมควบคุมป้องกัน ไวรัส ให้ดีแล้ว คือ ไม่มีคุณธรรม ควบคุมป้องกัน  ความโลภ โกรธ  หลง

ไม่ ให้แสดงวิปลาสออกมา  เช่น เมื่อบุคคลผู้มีความโลภ โกรธ  หลง เป็นมูล  ได้ประสบกับอารมณ์ คือ  เมื่อได้เห็นสิ่งของต่าง ๆ   ได้ยินเสียงเรื่องราวทั้งหลาย     ได้กลิ่น   ลิ้มรส   สัมผัสถูกต้องด้วยกาย   ถ้าชอบใจก็เกิดความโลภอยากได้   ถ้าไม่ชอบใจก็เกิดความโกรธ ระรานทำลายล้าง   ถ้าไม่รู้เรื่องก็ดูหมิ่นลบหลู่  ล้อเลียนเย้ยหยันฯ

          ส่วนผู้ที่มีคุณธรรม มีสติปัญญา เป็นกุศลมูล นั้น เมื่อประสบกับอารมณ์ คือ  เมื่อได้เห็นสิ่งของต่าง ๆ  ได้ยินเสียงเรื่องราวทั้งหลาย  ได้กลิ่น ลิ้มรส   สัมผัสถูกต้องด้วยกายแล้ว   ย่อมพิจารณารู้ได้ว่า เช่นเมื่อเห็นอาบก็รู้ได้ว่า ทำอะไร  เพื่ออะไร  จะเสร็จเมื่อใด, หรือว่า  อาคารหลังใหญ่เท่านี้ ต้องใช้เงิน วัสดุ แรงงาน เวลาทำ เมื่อใดเสร็จ, ไฟภายนอกคือโลภโกรธ หลงไฟภายใน คือ ศีล  สมาธิ  ปัญญา ฯลฯ)

         ๖. ระลึกถึงโอวาท คำสอนของหลวงพ่อโสภณฯ (ตุ๊ลุงทอง) ว่า หื้อผ่อดูตัวเอง หื้อสนใจตัวเองหื้อนัก ๆ อย่าไปมัวผ่อคนอื่น  ดังคนขี้ว่า  ขี้เล่า ชอบตำหนินินทาคนอื่น   วันหนึ่งกล๋างวันร้อน ได้เข้าไปใต้มะม่วงต้นใหญ่เพื่อหลบร้อน ก็ตำหนิมะม่วงว่า  ต้นใหญ่หน่วยหน้อย   ทีบ่าเต้า(แตงโม) บ่าแต๋งฯ  ต้นเครือหน้อย(เล็ก)  หน่วยใหญ่  มะม่วงหล่นลงมา เป็นจังหวะพอดีที่เงยหน้าขึ้นก็ตกใส่หน้า  เลยคิดได้ว่า ถ้ามะม่วงหน่วยใหญ่เท่าบ่าเต้าบ่าแต๋งกูเจ็บหนักกว่านี้, คนขี้ว่า  ขี้เล่า ชอบตำหนินินทาคนอื่นอีกรายหนึ่ง   ได้ชวนเพื่อน ๆ พากั๋นไปแอ่วงานปอยหลวง แอ่วไปก๋ำลังม่วน   ได้ ขี้ใส่เก๋งใส่เตี่ยวผ้าตัวเก่า(ตัวเอง)    แล้วชวนเพื่อน ๆ  ว่า  ขอหื้อไปส่งบ้านจะไปถ่ายผ้า เพราะว่า  ได้นั่งใส่ขี้      เพื่อน ๆ บอกว่า  บ้านเราอยู่ไกล๋   กลับมารอบใหม่งานปอยก็เลิก  แล้วบอกว่านุ่งผ้าซ้อนกันสองผืนมา  ให้แก้ผ้าชั้นนอกที่เปลื้อนขี้ออกเก็บไว้  ก็เที่ยวแอ่วงานต่อไป   ชายขี้ใส่ผ้าบอกเพื่อน ๆ ว่า ผ้าชั้นในเปื้อนมากกว่าผ้าชั้นนอกอีก     เรื่องนี้ชีให้เห็นว่า  ขี้ของตนแท้ ๆ ยังบอกว่า นั่งใส่ขี้คนอื่นฯ)

           ๗.  เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ ศึกษาหาคุณประโยชน์ภายในตัวเอง โดยอาศัยตนเป็นอุปกรณ์แห่งเรียนรู้ นี้ ย่อมจักรู้เห็นตนมีคุณค่า  แล้วก็จะได้รู้วิธีรักตน  โดยให้ตนเว้นห่างการทำชั่ว ฯ  (รีไซเคิล)  แม้ซากศพสิ่งที่จะทิ้ง  มีพุทธานุญาตให้เอาเป็นองค์อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐  ดังที่รู้เห็นในงานศพ   มีการนิมนต์พระเณรไปเสียศพในป่าช้า   พิจารณาผ้าปังสุกุล  สมัยก่อนพระ หรือครูบาอาจารย์จะนำศิษย์ (พระเณร)  ไปป่าช้าเพื่อพิจารณาซากศพ และหาผ้าปังสุกุลเอง. มายุคหลัง ๆ สังคมบ้านเมืองมีความผันผวนเดือดร้อนทำให้พระเณรลำบากด้วยปัจจัย ๔ เป็นเหตุให้ศึกษาเล่าเรียนสืบทอดพระธรรมวินัย  ยากลำบากไปด้วย   ชาวบ้านชาวเมืองก็เป็นห่วงพระพุทธศาสนา  แม้เมื่อมีศพก็นิมนต์พระเณรไปร่วมงานด้วย   เพื่อเป็นการปลูกฝัง ความรักความผูกพันทางศาสนา ให้แก่ชาวพุทธ และ  ก็ยังเป็นห่วงพระเณร ว่า จะหลงใหลไปตามกระแสโลกแล้ว เหินห่างกัมมัฏฐาน ลืมเอาใจใส่พระธรรมวินัย ก็ได้นิมนต์พระเณรไปเสียศพที่ป่าช้าด้วย   เพื่อจะได้เห็นศพ เป็นอสุภกัมมัฏฐาน แถมยังได้ชักผ้าปังสุกุลมาใช้สอยโปรดญาติโยมด้วย แต่ถ้าแสวงหาคุณประโยชน์ภายนอกตัวแล้ว  ถ้าได้มา ก็เกิดตัณหา มานะถือตัว ทิฏฐิเห็น และเนรคุณ  เช่น  เหมือนไก่หน้อยขี้ใส่ถังข้าวสารที่นายเลี้ยง, ถ้าไม่ได้ก็ไม่พอใจและดูหมิ่น  เช่น พระเทวทัต อยากเป็นใหญ่  จึงอาฆาตทำร้ายพระพุทธเจ้า  อย่างนี้เป็นต้นฯ

         ๘.  ขน....หนวด ที่บนใบหน้ามันเป็นอสุภะกัมมัฏฐานได้ดี (สิ่งของไม่งาม) ใช้พิจารณาสะดวก และยังใช้เป็นอุปกรณ์เปรียบเทียบ ในการสอนเด็ก ก็ยังได้ เช่น การตัดหนวดกับการเลิกเหล้าอย่างไหนยากง่าย,   หรือ อธิบาย ปรมัตถธรรม ๔ ว่า  ขนหนวดบอกความหมายภาวะรูปฯ ลฯ,  ธรรมชาติของจิต ย่อมสนใจเสพอารมณ์ที่ปรากฏชัด  หรือ อารมณ์ที่เป็นจุดเด่น จะดี หรือ เลว มากกว่าอารมณ์ธรรมดา เมื่อเป็นอย่างนี้   ก็อธิบายเรื่องจิตที่

ต้องชักชวน  และ จิตที่ไม่ต้องชักชวน,  จิตที่ด้อย และจิตที่เด่น, หรือจิตที่เป็นผู้นำ  และ จิที่เป็นผู้ตาม เป็นต้น ฯ

          (ธรรมดา--- สินค้าที่ดีทั้งหลาย  จากผู้ผลิตรายเดียวหรือหลายราย นั้น  จักถึงมือผู้ใช้หรือขายได้ขายดี  ต้อง-อาศัยผู้ขายทั้งหลาย   บริการการขาย  บริการหลังการขายที่ดีแล้ว  ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ใช้ ผู้ขาย ผู้ผลิตฉันใด,

 หากว่า ผู้ขาย บริการการขายไม่ดี ไม่ถูกต้องหรือ ผู้ขาย ผู้บริการการขายมาผลิตเลียนแบบ(ปลอมแปลง)แข่งผู้ผลิตเดิม  ความเสียหายย่อมเกิดขึ้น,      พระธรรมวินัย  อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว  ถ้าบุคคลผู้ นำมาเผยแผ่-ทั้งหลาย   เผยแผ่ได้อย่างสมบูรณ์เนื้อความครบถ้วนแล้ว   ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขความสิ้นทุกข์เพื่อนิพพานแก่ชาวโลก   เป็นอย่างมาก  ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ)                     -------------

         *  สรูปแล้ว   การศึกษา การเรียนรู้ การแสวงหาองค์ความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม หรือทั้งภายนอก และภายใน  นี่  เป็นเหตุ เป็นรากฐาน แห่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ของชีวิตฯ      การที่เราไปโรงเรียนในสถาบันการศึกษา  ในมหาวิทยาลัยหรือที่อื่น ๆ  เพื่อแสวงหาความรู้  ภายนอกตัวนั้น ต้องใช้ปัจจัย  ค่าใช้จ่ายมาก  นี่ ก็เป็นอุปสรรคของการศึกษาเรียนรู้ภายนอกตัว  สำหรับผู้มีทรัพย์น้อย,    ถ้าเป็นพระเณร ยกเว้นไตรศึกษาคือ ศีลสิกขา  จิตตสิกขา   ปัญญาสิกขา  ๓  อย่างนี้แล้ว     ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันแห่งความสำเร็จ                  

         ส่วน การศึกษาเรียนรู้ภายในตัวนั้น  เป็นที่รู้กันว่า จะต้องเจออุปสรรคขัดขวาง ที่ชื่อว่า มาร  มาร  พญามาร เช่น  ที่เจ้าชายสิทธัตถะ  ผจญมาร เมื่อเสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่   เป็นต้นไป  ก็ยังเจออุปสรรคขัดขวาง ทั้งที่เป็นมนุษย์  ทั้งที่เป็นทิพย์, จริง ๆ แล้วพระธรรม วินัย คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มันฝืนใจขมขื่น แก่ผู้อ่าน  ผู้ศึกษา เรียนรู้ มากกว่ามาก    ไม่ต้องไปกล่าวถึงผู้ที่ไม่ยินดีพอใจ  ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัย   แล้วก็มาได้ยินได้ฟัง  พระเณรที่ศึกษา ท่องบ่น  ท่องจำกันในวัด    เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา  เมื่อมาได้ยินได้ฟัง  อย่างนี้  มันจะขมขื่นอย่างมาก ๆ   มากกว่า ผู้ศึกษา เล่าเรียนท่องจำธรรมวินัย    เหมือนกันกับมาได้ยินคำด่าตัวเองทุกคำ  ๆ   ที่ได้ยินได้ฟัง นั้น   เช่นเหมือน  นางสาว มาคันธิยะ กับ พ่อแม่  ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดง,   พ่อแม่ของนางบรรลุอนาคามี  น.ส. มาคันธิยะโกรธไม่พอใจ อาฆาตวางแผนทำร้าย พระพุทธเจ้า เมื่อไม่สำเร็จ  ก็ทำร้ายฆ่านางสามาวดีพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐นาง เพื่อแก้แค้นพระพุทธเจ้า  (ชื่อเรื่องนางสามาวดี ในพระธรรมบท)                          

          กิจวัตร ๑๐ อย่างของพระภิกษุ คือ

๑. ลงอุโบสถ     ๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ  ๓. สวดมนต์ไหว้พระ              

๔. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์    ๕. รักษาผ้าครอง  ๖.  อยู่ปริวาสกรรม    ๗.โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ    ๘. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ 

๙. เทศนาบัติ      ๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น  

        (บทสรุป) กิจวัตร ๑๐ อย่างเหล่านี้เป็นกิจใหญ่  ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัดและจำไว้ เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตนฯ(ที่มาคัดลอกมาจากหนังสือสวดมนต์ฉบับ ภาคเหนือ.. ทวีเขื่อนแก้ว,   มนต์พิธี ..เอี่ยม สิริวณฺโณ)

         ขออนุญาต อธิบายขยายความ  กิจวัตร ๑๐ อย่างของพระภิกษุ

กิจวัตร ๑๐ แปล่า  การงานหรือหน้าที่ประพฤติ ๑๐ อย่างของพระภิกษุ คือ

๑.        ก .การลงอุโบสถ   เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามัคคี  ความพรั่งพร้อม   เป็นเบื้องต้น  ของหมู่ภิกษุอันดับแรก               

           ข. มีการกระทำกิจเป็นท่ามกลาง คือ   แสดง-ฟังพระวินัยปาฏิโมกข์  เพื่อทบทวนศีลสิกขาบทและทรงจำไว้  เพื่อความเคารพพระธรรมวินัย  ค. มีความสำเร็จเป็นที่สุด

           ๒. การบิณฑบาตเลี้ยงชีพนั้น มีพุทธานุญาตว่า ให้ตามอัธยาศัย เช่น รูปใดสมาทานธุดงค์บิณฑบาตรเป็นปกติฯ

           ๓. การสวดมนต์ หรือ การสาธยายมนต์  คือการทบทวนท่องจำ บทธรรม   พิจารณาตรึกตรองบทธรรมจะออกเสียงมาก ออกเสียยงน้อยตามอัธยาศัย ไม่ต้องใช้เครื่องเสียง , ส่วนการไหว้พระนั้น ความจริงพระเณรทุกรูป ช่วงขอบวชหรือก่อนบวช ก็ปฏิญญาด้วยการเปล่งวาจา  เคารพนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยกายวาจาใจทุกท่านอยู่แล้ว แต่ก็มีลักษณะการเคารพบูชากราบไหว้อยู่  ๕  อย่าง คือ  

(๑)   กิริยาวันทนา  การกราบไหว้บูชาเพียงแต่กิริยาอาการให้ดูเท่านั้น  เช่น เราฝึกหมาแมวช้าง สัตว์ ให้กราบไหว้

(๒)   ลาภวันทนา  การกราบไหว้บูชาประจบปะแจง  เพื่อให้ได้มาซึ่ง ลาภ  ยศ ฯ

(๓)   ภยวันทนา  การกราบไหว้บูชาเพราะกลัวภัยอันตรายมีการตำหนิเป็นต้น, และเพื่อป้องกันภัยทั้งหลาย

(๔)  กุลจารวันทนา  การกราบไหว้บูชาตามจารีตประเพณีของสังคมหรือญาติตระกูลบรรพบุรุษ

(๕)   อภิวันทนา   การกราบไหว้บูชา ด้วยความเคารพความเลื่อมใส่ศรัทธาอย่างยิ่ง  คือนอบน้อมด้วยกายวาจาใจ

           ๔.  กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ ข้อนี้ เป็นสามัญสำนึก กวาดเป็นบุญ  ไม่กวาดไม่เป็นบาป

           ๕. รักษาผ้าครอง  ข้อนี้ ให้เพื่อรับผิดชอบบริหารตัวเองให้ดี ถ้าทำหายรักษาไม่ดี  ก็ถูกตำหนิทางวินัย

           ๖. อยู่ปริวาสกรรม ข้อนี้ เกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติกฎข้อบังคับ  เพื่อชำระล้างแก้ไขความผิดของพระให้เป็นผู้มีศีลปกติ

           ๗.โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ  ข้อนี้ เพื่อการบริหารกายให้สะดวกสบาย

           ๘.  ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์  ข้อนี้มี ๒ ตอน คือ

(๑)   ศึกษาสิกขาบท แปลว่า ข้อหรือบทที่ควรเรียนรู้ ท่องจำไว้ คือพระธรรมวินัยอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส

ไว้ ดีแล้วและต้องสนใจ ให้เอาใจใส่จดจ่ออย่างต่อเนื่อง (ศีลสิกขา จิตตสิกขา  ปัญญาสิกขา)  ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญในความเป็นพระ เณรอย่างมาก

(๒) และปฏิบัติพระอาจารย์ ข้อนี้  ให้รู้ว่า เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์   ถ้าผู้ใดอยู่ในฐานอาจารย์   ไม่เกื้อกูลต่อศิษย์ก็ทำให้ศิษย์บกพร่องต่อหน้าที่ฯ   ข้อปฏิบัติพระอาจารย์  กับอาจารย์ปฏิบัติต่อศิษบย์นี้มีนหลักสูตรนักธรรมชั้นโทหรือในพระไตรปิฎก อยู่แล้ว

          ๙. เทศนาบัติ   แปลว่าแสดงอาบัติ (ยังเข้าใจยากอยู่สำหรับผู้เรียนใหม่) เป็นกฏข้อบังคับทางพระวินัย  ขออธิบาย คือการเปิดเผยความผิดของตนที่ได้ทำไปแล้ว ให้กับบุคคลหรือกับหมู่คณะหรือกับหมู่สงฆ์รับรู้  เพื่อหาทางแก้ไขให้ถูกต้อง  (ไม่ใช่แก้ไขให้พ้นผิด)  ตามพระ ธรรมวินัยคือ ผู้ที่ได้ทำผิดอย่างเบาโทษเบา  เมื่อเปิดเผยสารภาพรับผิด แล้วตั้งใจสำรวมทำดีต่อไป, ผู้ที่ได้ทำผิดอย่างหนักโทษหนักที่แก้ไขได้   เมื่อเปิดเผยสารภาพรับผิด   แล้วตั้งใจจะสำรวมทำดีต่อไป  ทำผิดอย่างโทษหนักอย่างนี้  ต้องแก้ไขด้วยคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ยี่สิบกว่ารูปขึ้นไป จึงจะแก้ไขได้  โดยเริ่มแรกที่คณะสงฆ์ประชุมกันในพระอุโบสถ์  เพื่อทำสังฆกรรมไปตามลำดับ,  

          ส่วนพระที่ได้ทำผิดหลักพระวินัยบัญญัติ  ต้องโทษอย่างหนักที่แก้ไขไม่ได้ขาดจากความเป็นพระ ทันที  มี ๔ อย่าง คือ   

(๑)  พระเสพเมถุนกับคนหรือกับสัตว์ ขาดจากความเป็นพระ ทันที,  

(๒)  ถ้าพระภิกษุ มีเจตนาจงใจ ลักขโมยสิ่งของ  ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้  มีมูลค่าราคา  ๕ มาสกหรือหนึ่งบาท   หรือลักขโมยข้าวสารกำมือหนึ่งก็ดี ถั่วเขียวกำมือหนึ่งก็ดี  ถั่วเหลืองกำมือหนึ่งก็ดีฯลฯ อย่างนี้ขาดจากความเป็นพระ  ทันที

(๓)  ถ้าพระฆ่ามนุษย์  ด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่  แม้เด็กปฏิสนธิในท้องมารดาแล้ว  ก็ขาดจากความเป็นพระทันที,  

(๔)  ถ้าพระภิกษุ  อวดคุณวิเศษคุณธรรมระดับสูงที่ไม่มีในตน  คือ  อวดว่าได้บรรลุ มรรค  ผล  นิพพาน  ฌาน  อภิญญา  อย่างนี้ขาดจากความเป็นพระ  ทันที,  

            เปรียบเทียบหมอรักษาคนไข้  โทษฐานทำผิดของพระภิกษุ กับหมอที่รักษาคนไข้  ถ้าคนไข้ที่มีอาการของโรคเล็กน้อย เป็นคนไข้นอก  เปรียบเหมือนโทษที่ทำผิดอย่างเบา  ของพระภิกษุที่แก้ไขได้,  ถ้าคนไข้ที่มีอาการของโรคหนัก  ต้องอยู่ใกล้ชิดหมอ เป็นคนไข้ใน    เปรียบเหมือนโทษที่ทำผิดอย่างหนัก ของพระภิกษุที่แก้ไขได้,     ถ้าคนไข้ที่มีอาการของโรคหนัก  ทั้งหมอเยียวยารักษาไม่ได้ (รอตาย)    เปรียบเหมือนโทษที่ทำผิดอย่างหนักแก้ไขไม่ได้  ของพระภิกษุที่แก้ไขได้,

            ( คำสอน  ศาสนาคริสต์   กล่าวว่า  ผู้ ใด  รับสารภาพโทษบาปที่ได้ทำผิดไปแล้ว   ต่อพระเจ้าและหันหลังให้แก่บาป แล้วมอบความเลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า มอบความไว้วางใจความรักในพระเจ้า  พระเจ้าก็จะถ่ายบาปให้และจากตาย   ก็จักได้มีชีวิตนิรันดร  ในสวรรค์อยู่ร่วมกับพระเจ้า ) 

             ถ้าเราอ่านแล้ว  ไม่คิดอย่างเรา จะเห็นว่า  เป็นคำพูดที่น่าสนใจมาก  แต่ถ้าเราคิดอย่างเราแล้ว  ก็ขอให้จริงใจกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์  (พระสงฆ์ไม่ใช่ภิกษุ ไม่ใช่บุคคล)  ด้วยกายวาจาและใจ  องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฯลฯ ก็จักถ่ายบาปและชำระล้างกิเลสมารมลทินทั้งหลายให้เรา     แล้วก็จักให้พร  ๓ประการ คือ   

(๑)   มนุษย์สมบัติ  ความถึงพร้อมด้วยความเป็นมนุษย์   

(๒)  สวรรค์สมบัติ  ความถึงพร้อมด้วยสมบัติอันเป็นทิพย์             

(๓ )  นิพพานสมบัติ  ความถึงพร้อมด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน   (ขอให้ไข้หวัดหาย ปีใหม่ )

        

             ( ว่าด้วยโทษแห่งการด่าพระ  มี ๑๑  อย่าง )

      ในพระไตรปิฎกเอกทสกนิบาต(หมวด๑๑) สมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุใดก็ตาม ด่าบริภาษ คือกล่าวโทษ  เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย (มีอธิบายข้างหน้า) ว่าร้ายพระอริยะเจ้า(ผู้ประเสริฐ)เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้น จะถึงซึ่งความพินาศอย่าง ๑ใน ๑๑ อย่างนั้น ความพินาศ ๑๑ อย่างอะไรบ้างคือ

๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ( คือ ไม่บรรลุคุณธรรม คุณงามความดี )

๒.เสื่อมจากธรรมที่ได้บรรลุแล้ว คือ เสื่อมจากคุณธรรม คุณงามความดี ที่ได้บรรลุแล้ว)

๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว  (ไม่ผ่องแผ้ว คือ มัวหมอง เลอะเลือน ไม่ชัดเจน)

๔. เป็นผู้เข้าใจผิดคิดว่าได้บรรลุสัทธรรม (คือ เข้าใจผิดว่า บรรลุคุณธรรม คุณงามความดี )

๕.เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ( คือ ไม่ยินดีประพฤติในความเป็นพระ - เณร)

๖. ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ( คือ ทำผิดวินัยพระ  ที่มีโทษอย่างร้ายแรง) 

๗.บอกคืนลาสิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ ( คือ  สึกมาเป็นฆราวาส ชาวบ้าน )

๘.เป็นโรคร้ายแรง ( คือ เป็นโรคเรื้อรัง  เป็นโรคหนัก อาการของโรคหนัก )

๙.ถึงความวิกลจริต   ( ถึงความเป็นบ้า )  หรือ จิตฟุ้งซ่าน

๑๐. หลงลืมสติ มรณภาพ (ขี้หลง ขี้ลืม ก่อนตาย)

๑๑. หลังจากมรณภาพแล้ว จะไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

     ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด  ก็ตามด่าบริภาษ  เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย  ว่าร้ายพระอริยะเจ้า

          เป็นไปได้ ที่ภิกษุนั้น  จะถึงความพินาศ ๑  ใน  ๑๑  อย่าง ฯ

อธิบาย คำว่า  เพื่อนพรหมจารี  คือ  พระภิกษุ-สามเณร ผู้มีศีลเป็นที่รักประพฤติธรรมวินัยร่วมกัน

           คำว่า  สัทธรรม มี ๓ คือ  ปริยัติธรรม  ความรู้ทางธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรม ข้อปฏิบัติทางธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสสิ่งเศร้าหมองเร่าร้อนในใจ

            ปฏิเวธสัทธรรม     คุณธรรม คุณงาม ความดี ที่ได้บรรลุ ที่ได้เข้าถึงแล้ว   คำว่า  เป็นไปได้  คือ   ยอมรับฐานะ ( เหตุ ) ที่ให้เป็นไปได้

 

ว่าด้วยการคว่ำบาตร

            พระพุทธานุญาตให้สงฆ์คว่ำบาตร แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน ผู้ว่าร้ายภิกษุ  โดยรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ อย่าได้คบกับสงฆ์ (เจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นแรก)

องค์แห่งการคว่ำบาตร

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สงฆ์คว่ำบาตร แก่อุบสก อุบาสิกา ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. ขวานขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย              

๒. ขวานขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย                             

๓. ขวานขวายเพื่อมิใช่อยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย      

๔.  ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย        

๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน                                    

๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

๗. กล่าวติเตียนพระธรรม                                                                                            ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็แลสงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้    คือ  ภิกษุผู้ฉลาดสามรถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้ ฯลฯ (มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๗, และมีในพระสูตรสัตตนิบาต)?


 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

   Main webboard   »   หน้าปฏิบัติ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 128,431 Today: 20 PageView/Month: 53

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...