ชีวิตพระลูกวัดร่ำเปิง http://maka.siam2web.com
   Main webboard   »   เว็บหน้าแรก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ปวารณา  (Read: 2050 times - Reply: 0 comments)   
จักรกริช (Admin)

Posts: 119 topics
Joined: 10/3/2552

ปวารณา
« Thread Started on 30/10/2555 22:45:00 IP : 180.183.206.63 »
 

ปวารณาสูตร พระพุทธเจ้าทรงปวารณาแก่หมู่สงฆ์ 

คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำเพื่อจะทรงทำปวารณา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่ พระสารีบุตรตอบปฏิเสธเพราะพระองค์ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น จากนั้นพระสารีบุตรก็กล่าวปวารณาให้พระพุทธเจ้าติเตียนท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวปฏิเสธ เพราะพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก พระสารีบุตรทูลถามอีกว่า พระองค์จะไม่กล่าวติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจา ของเหล่าภิกษุบ้างหรือ พระองค์กล่าวปฏิเสธ เพราะเหล่าภิกษุได้บรรลุวิชชา 3 อภิญญา 6 ได้อุภโตภาควิมุตติ และได้ปัญญาวิมุติเป็นพระอรหันต์  การ กล่าวปวารณาเท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของ พระรูปหนึ่ง ก่อนที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง การปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำนี้เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอย สังวร คือ ตามระวังไม่ให้ประมาท ไม่ยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย

       

มหาปวารณา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าว ตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน

 

วันที่ปวารณามี  3  คือ

              1. ปัญญรสีกา คือ ปวารณาที่ทำโดยปกติ  ในวันขึ้น15 ค่ำ

2.จาตุทฺทสิกาปวารณา  ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่ง  หรือเดือนหนึ่ง  โดยประกาศให้สงฆ์ทราบถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม 14 ค่ำ เป็น  จาตุททสิกา

3. สามัคคีปวารณา  ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี   คือในวันที่สงฆ์แตกกันแล้วกลับปองดองเข้ากันได้

ถ้าแบ่งโดยการก คือ ผู้ทำปวารณาแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ
1. สังฆปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์คือมีภิกษุ 5 รูปขึ้นไป)
2. คณปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยคณะคือมีภิกษุ 2-4 รูป)
3. ปุคคลปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยบุคคลคือมีภิกษุรูปเดียว)

อาการที่ทำปวารณาจึงมี 3 อย่าง คือ
1. ปวารณาต่อที่ชุมนุม (ได้แก่ สังฆปวารณา)
2. ปวารณากันเอง (ได้แก่ คณะปวารณา)
3. อธิษฐานใจ (ได้แก่ ปุคคลปวารณา)

อัชเฌสนา  (คำเชื้อเชิญให้ตั้งญัตติ) 

 ปุพฺพกรณปุพฺพกิจฺจานิ   สมาเปตฺวา  อิมสฺส   นิสินฺนสฺส   ภิกฺขุสงฺฆสฺส   อนุมติยา   ปวารณกมฺมัง   สมานวสฺสิกํ  ( ประเภทของญัตติ ) ญัตฺติง   ฐเปตุง   อตฺถนฺนามํ  ( ฉายาผู้สวด ) ภิกขุ   อชฺเฌสสามิ

 

ในการทำสังฆปวารณา ต้องตั้งญัตติคือ ประกาศแก่สงฆ์ก่อน แล้วภิกษุทั้งหลายจึงจะกล่าวคำปวารณาอย่างที่แสดงไว้ข้างต้น ตามธรรมเนียมท่านให้ปวารณารูปละ 3 หน แต่ถ้ามีอันตรายคือเหตุฉุกเฉินขัดข้องจะทำอย่างนั้นไม่ได้ตลอด (เช่น แม้แต่ทายกมาทำบุญ) จะปวารณารูปละ 2 หน หรือ 3 หน หรือ พรรษาเท่ากันแล้วพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ จะปวารณาอย่างไรก็พึงประกาศให้สงฆ์รู้ด้วยญัตติก่อน

 

วิธีการตั้งญัตติปวารณามีดังนี้

1. เตวาจิกา ญัตติ คือ จะปวารณา 3 หน พึงตั้งญัตติว่า : สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เตวาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ที่ 15 ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณาอย่างกล่าววาจา 3 หน (ถ้าเป็นวันแรม 14 ค่ำ หรือวันสามัคคีก็พึงเปลี่ยน ปณฺณรสี เป็น จาตุทฺทสี หรือ สามคฺคี ตามลำดับ)

2. เทฺววาจิกาญัตติ คือจะปวารณา 2 หน ตั้งญัตติว่า : สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เทฺววาจิกํ ปวาเรยฺย

3. เอกวาจิกา ญัตติ คือจะปวารณาหนเดียว ตั้งญัตติ: สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เอกวาจิกํ  ปวาเรยฺย

4. สมานวัสสิกา ญัตติ คือ จัดให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากัน ปวารณาพร้อมกัน ตั้งญัตติว่า : สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ  สมานวสฺสิกํ  ปวาเรยฺย  (3 หน 2 หน หรือ หนเดียวได้ทั้งนั้น)

5. สัพพสังคาหิกา ญัตติ คือ แบบตั้งครอบทั่วไป ไม่ระบุว่ากี่หน ตั้งญัตติคลุมๆ ว่า : สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ  ปวาเรยฺย  ธรรมเนียมในการปาวารณานิยมแต่แบบที่ 1,2 และ 4 และท่านเรียกชื่อปวารณาตามนั้นด้วยว่า เตวาจิกา ปวารณา, เทฺววาจิกา ปวารณา, สมานวัสสิกา ปวารณา 


                ในการทำ คณะปวารณา

ถ้ามีภิกษุ 3-4 รูป พึงตั้งญัตติก่อนว่า: สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺโต, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, อทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, ยํ อญฺญมญฺญํ ปวาเรยฺยาม แปลว่า ท่านเจ้าข้า ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณากันเถิด

(ถ้า 3 รูปว่า  อายสฺมนฺตา  แทน  อายสฺมนฺโต) จากนั้นแต่ละรูปปวารณา 3 หน ตามลำดับพรรษาดังนี้: มี 3 รูปว่า อหํ อาวุโส อายสฺมนฺเต ปวาเรมิ ทิฎฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกาย  วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺตา อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ.

ทุติยมฺปิ อาวุโส  อายสฺมนฺเต ปวาเรมิ ทิฎฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกาย  วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺตา อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ.

ตติยมฺปิ อาวุโส   อายสฺมนฺเต ปวาเรมิ ทิฎฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกาย  วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺตา อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. (ถ้ารูปอ่อนกว่าว่า เปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต) ; มี 4 รูป เปลี่ยน อายสฺมนฺเต และ อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมนฺโต อย่างเดียว;

ถ้ามี 2 รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ คำปวารณาก็เหมือนอย่างนั้น เปลี่ยนแต่ อายสฺมนฺเต เป็น อายสฺมนฺตํ, อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมา และ วทนฺตุ  เป็น วทตุ
                ถ้าภิกษุอยู่รูปเดียว เธอพึงตระเตรียมสถานที่ไว้ และคอยภิกษุอื่นจนสิ้นเวลา เมื่อเห็นว่าไม่มีใครอื่นแล้ว พึงทำ ปุคคลปวารณา โดยอธิษฐาน คือกำหนดใจว่า อชฺช เม ปวารณา แปลว่า ปวารณาของเราวันนี้ เหตุที่จะอ้างเพื่อเลือนวันปวารณาได้ คือ จะมีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบปวารณาด้วย โดยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น หรืออยู่ด้วยกันผาสุก ถ้าปวารณาแล้วต่างก็จะจาริกจากกันไปเสีย

 

คำปาวรณา 

เมื่อตั้งญัตติแล้วพระเถระผู้เป็นประธานห่มผ้าเฉวียงบ่านั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวคำปวารณาต่อสงฆ์ว่า

  สังฆัง อาวุโส  ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา  ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ  ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

ทุติยัมปิ   อาวุโส  สังฆัง  ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปทายะ  ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

 ตะติยัมปิ อาวุโส  สังฆัง  ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ  วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

 หลังจากนั้นภิกษุผู้มี พรรษาอ่อนกว่าพึงปวารณาตามลำดับโดยว่า

สังฆัง  ภันเต ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา  ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ  ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

ทุติยัมปิ  ภันเต  สังฆัง  ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปทายะ  ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

 ตะติยัมปิ ภันเต  สังฆัง ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ  วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ

 

จุดมุ่งหมายของการปวารณา คือ

1.เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยให้หมดไปในที่สุด

2.เป็นทางประสานรอยร้าวที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดี ด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน

3.เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ

4.เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยไม่กำจัดด้วยยศ ชั้น พรรษา และวัย

5.ก็ให้เกิดภราดรภาพ คือ ความรู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดีเอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงามคล้ายๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญตา

อานิสงส์ของการปวารณา ได้แก่

1.ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นการคลายความสงสัย ระแวง ให้หมดไปในที่สุด  

2.พระภิกษุทุกรูปจะรู้ข้อบกพร่อง ของตนเอง และจะได้ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น โดยฝึกความอดทนต่อการว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นการเปิดใจยอมรับฟังผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้

3.พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและ กัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง ด้วยความรักและปรารถนาดี และให้อภัยซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะอย่างผาสุก

4.เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในสังฆมณฑลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนในการทำงานพระพุทธศาสนาเป็นทีม

5.ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การถูกทำลายจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา     การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม

 

        ดังนั้น เมื่อวันมหาปวารณาเวียนมาถึง พวกเราพุทธบริษัทสี่จะได้ถือโอกาสนี้ปฏิบัติตามธรรมเนียมอันดีงามนี้ โดยการปวารณากับบุคคลข้างเคียงให้สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคหน้า  

อนุมานสูตร ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก 16 ประการ

1.เป็นผู้มีความปรารถนาลามก

2.เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น

3.เป็นผู้มักโกรธ มีความโกรธครอบงำแล้ว

4.เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ

5.เป็นผู้มักโกรธ มักระแวง

6.เป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ

7.เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์

8.เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์

9.เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อนพูดนอกเรื่องแสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย ความไม่เชื่อฟังปรากฏ

10.เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ

11.เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์

12.ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ

13. ภิกษุเป็นผู้ริษยา ตระหนี่

14. ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เจ้ามายา

15. ภิกษุเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น

16. ภิกษุเป็นผู้ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้นถอนได้ยาก

 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

   Main webboard   »   เว็บหน้าแรก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 128,434 Today: 23 PageView/Month: 56

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...